วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ที่นักบัญชีไม่เคยบอกคุณ ตอนที่ 1: แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนฐานกิจกรรม

วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ที่นักบัญชีไม่เคยบอกคุณ ตอนที่ 1: แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนฐานกิจกรรม

19 พฤษภาคม 2565บทความ9,176

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS:




  • เรียนรู้วิธีการปันส่วนต้นทุนแบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบต้นทุนฐานกิจกรรมหรือ Activity-Based Costing System : ABC ซึ่งเป็นการจัดสรรค่าใช้จ่ายการผลิตตามกิจกรรมที่ผลักดันต้นทุนที่ใช้ทรัพยากรนั้น ๆ โดยการปันส่วนต้นทุนของแต่ละกิจกรรมเข้าสู่สินค้าหรือบริการตามปริมาณของกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่มีความถูกต้องมากกว่าระบบต้นทุนแบบดั้งเดิม



เวลาในการอ่าน 4 นาที








บทความชุด “วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ที่นักบัญชีไม่เคยบอกคุณ” จะมาแนะนำแนวทางการปันส่วนต้นทุนโดยการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยวิธีการที่จะทำให้กิจการต่าง ๆ สามารถปันส่วนต้นทุนให้กับสินค้าหรือบริการของกิจการได้ดียิ่งขึ้น ผ่านบทความ 6 ตอน ดังนี้



ตอนที่ 1 แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนฐานกิจกรรม



ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการวิเคราะห์ระบบต้นทุนแบบดั้งเดิมกับต้นทุนระบบต้นทุนฐานกิจกรรม



ตอนที่ 3 จุดอ่อนของการคิดต้นทุนฐานกิจกรรมแบบแบบดั้งเดิม



ตอนที่ 4 การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมโดยใช้เวลาเป็นตัวผลักดัน



ตอนที่ 5 การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม



ตอนที่ 6 กลยุทธ์ในการจัดการกิจกรรม



ในโลกของการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง หลายกิจการได้นำเอาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเข้ามาใช้ในโรงงาน และมีการปรับตัวให้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันและการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ส่งผลให้กิจการต่าง ๆ เปลี่ยนจากการเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการดำเนินงาน มาเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการลงทุน ทำให้โครงสร้างต้นทุนของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุน และอาจจะกล่าวได้ว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตมีปริมาณที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม การคำนวณต้นทุนสินค้าตามระบบต้นทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Costing System) ซึ่งจัดสรรค่าใช้จ่ายการผลิตตามฐานการปันส่วนต้นทุนเพียงฐานเดียว เช่น จำนวนชั่วโมงแรงงานทางตรง จำนวนชั่วโมงเครื่องจักร หรือค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรง เป็นต้น ทำให้สินค้าต่างรูปแบบ ต่างชนิดกัน มีขั้นตอนการผลิตแตกต่างกัน ได้รับการปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิตในอัตราเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มีการใช้ทรัพยากรการผลิตต่างรูปแบบกัน ทำให้เกิดการบิดเบือนในต้นทุนของสินค้า สินค้าชนิดหนึ่งอาจมีต้นทุนที่สูงเกินไป ในขณะที่สินค้าอีกชนิดหนึ่งอาจมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำเกินไป มีผลทำให้ฝ่ายการตลาดนำต้นทุนไปใช้ในการตัดสินใจกำหนดราคาขาย หรือกำหนดสัดส่วนการขายไม่ถูกต้อง



จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาระบบการปันส่วนต้นทุนแบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบต้นทุนฐานกิจกรรมหรือ Activity-Based Costing System : ABC ขึ้น เพื่อทำให้การปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิตมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยระบบนี้พัฒนาขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากร กิจกรรม และนำไปสู่สินค้าหรือบริการ โดยที่ทรัพยากรถูกนำมาใช้ในการทำกิจกรรม และผลสุดท้ายสินค้าหรือบริการเป็นผลที่เกิดจากการทำกิจกรรม แล้วอะไรที่เป็นต้นทุนของทรัพยากร ก็อาจจะเป็นต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าวัตถุดิบทางตรง (Direct Material) ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) ร่วมกันเป็นต้นทุนทางตรง (Direct Cost) ที่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นของสินค้าหรือบริการได้โดยตรง



ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการผลิต (Overhead Cost) ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางอ้อม (Indirect Cost) อาจพึ่งพิงระบบต้นทุนฐานกิจกรรมเพื่อนำมาปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิตที่ไม่สามารถแยกแยกให้กับสินค้าหรือบริการได้โดยตรงให้กับกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรนั้น ๆ และปันส่วนต้นทุนของแต่ละกิจกรรมเข้าสู่สินค้าหรือบริการตามปริมาณของกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง





 






แผนภาพสรุปเปรียบเทียบการวิเคราะห์ต้นทุนระบบต้นทุนฐานกิจกรรมกับระบบต้นทุนแบบดั้งเดิม



ในตอนถัดไป จะพาผู้อ่านไปศึกษาตัวอย่างข้อมูลเชิงปริมาณสำหรับการวิเคราะห์ระบบต้นทุนแบบดั้งเดิมเปรียบเทียบกับระบบต้นทุนฐานกิจกรรม ให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น โปรดติดตาม ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการวิเคราะห์ระบบต้นทุนแบบดั้งเดิมกับต้นทุนระบบต้นทุนฐานกิจกรรม





เรียบเรียงโดย : อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA



ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ



มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ



เลขานุการคณะทำงานโครงการเครือข่ายหลักสูตรทางการบัญชีในประเทศไทย



และอนุกรรมการกลั่นกรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชี



สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ