HIGHLIGHTS:
เวลาในการอ่าน 2 นาที
บทความชุด “วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ที่นักบัญชีไม่เคยบอกคุณ” จะมาแนะนำแนวทางการปันส่วนต้นทุนโดยการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยวิธีการที่จะทำให้กิจการต่าง ๆ สามารถปันส่วนต้นทุนให้กับสินค้าหรือบริการของกิจการได้ดียิ่งขึ้น ผ่านบทความ 6 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการวิเคราะห์ระบบต้นทุนแบบดั้งเดิมกับต้นทุนระบบต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 3 จุดอ่อนของการคิดต้นทุนฐานกิจกรรมแบบแบบดั้งเดิม
ตอนที่ 4 การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมโดยใช้เวลาเป็นตัวผลักดัน
ตอนที่ 5 การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 6 กลยุทธ์ในการจัดการกิจกรรม
การคิดต้นทุนฐานกิจกรรมหรือ ABC เป็นการปันส่วนต้นทุนสินค้าหรือบริการที่องค์กรสามารถนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อกิจการ แต่ในทางปฏิบัติการใช้ระบบ ABC บางส่วนกลับประสบปัญหาทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย ในการจัดเตรียมข้อมูลจากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และต้องปรับปรุงข้อมูลของกิจกรรมให้มีความทันสมัย ระบบ ABC แบบดั้งเดิมใช้ได้ผลดีในสภาพแวดล้อมที่จำกัดในฝ่ายหรือโรงงานในสถานที่แห่งเดียว แต่เมื่อมีการขยายไปสู่การใช้งานเต็มรูปแบบทั้งองค์กรอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ ดังนี้
1. การเพิ่มเติมกิจกรรม
การเพิ่มเติมกิจกรรมทำให้ฐานกิจกรรมมีขนาดใหญ่ขึ้น ขอยกตัวอย่าง กระบวนการการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า กิจการต้องทราบว่า หากมีการจัดส่งหลายต่อหลายวิธี เช่น โดยรถบรรทุกเต็มคัน หรือโดยรถบรรทุกไม่เต็มคัน โดยการจัดส่งด่วนแบบข้ามคืน หรือโดยบริษัทขนส่งเอกชน แต่ละวิธีก็จะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน เนื่องจากกิจกรรมการจัดส่งที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกได้กำหนดต้นทุนต่อคำสั่งซื้อไว้เป็นมาตรฐานเดียว จึงจำเป็นต้องกำหนดกิจกรรมเพิ่มเติม และกำหนดสัดส่วนของงานที่ทำให้แต่ละกิจกรรมในองค์กรใหม่ เพื่อใช้ในการปันส่วนต้นทุนทรัพยากรเข้าสู่กิจกรรม นอกจากนี้กิจกรรมที่เพิ่มเติมเข้าไปใหม่ในระบบงานจะทำให้จำนวนของกิจกรรมขยายมากขึ้น หากระบบงานมีข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมมากเกินกำลังการประมวลผล จะส่งผลให้การประมวลผลล่าช้า และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการประมวลผล ซึ่งอาจแก้ไขโดยการแยกการจัดเก็บข้อมูล และการประมวลผลออกเป็นแต่ละส่วนงานแทน
2. การจัดทำข้อมูลต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดทำมากขึ้น
ในขั้นตอนของการพัฒนากิจกรรมที่เพิ่มมากขึ้น องค์กรต้องทำการสำรวจและสัมภาษณ์พนักงานและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร เกี่ยวกับกิจกรรมและเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรม เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลในระบบ ABC และจะต้องทำการสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้งในภายหลัง หากการเปลี่ยนแปลงตัวผลักดันต้นทุนของกิจกรรมต้องทำการปรับปรุงฐานข้อมูลขององค์กรให้เป็นปัจจุบัน
3. ต้นทุนของแต่ละกิจกรรมสูงกว่าที่ควรจะเป็น
การใช้วิธี ABC ไม่สามารถคิดต้นทุนของทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรมเข้าสู่แต่ละกิจกรรมได้โดยตรง ต้องอาศัยการจัดสรรต้นทุน โดยใช้ปริมาณงานหรือสัดส่วนของเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรม เป็นฐานในการปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิต แต่โดยที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ หรือเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรม อยู่บนพื้นฐานของคนและ/หรือเครื่องจักรอย่างเต็มความสามารถ คือรวมกันเท่า 100% โดยไม่พิจารณาถึงช่วงเวลาที่พนักงานว่างงาน เวลาการรองาน เวลาการอบรมของพนักงาน เป็นต้น จึงทำให้ต้นทุนของแต่ละกิจกรรมได้รวมต้นทุนทรัพยากรส่วนที่ไม่ได้ใช้งานไว้ด้วย
เมื่อการคิดต้นทุนฐานกิจกรรมหรือ ABC แบบเดิม มีข้อจำกัด ต่อมา Robert S. Kaplan และ Steven R. Anderson จึงได้นำเสนอการปันส่วนต้นทุนการผลิตแบบ ABC ที่ปรับปรุงและง่ายต่อการนำไปใช้ เรียกว่า “ต้นทุนฐานกิจกรรมโดยใช้เวลาเป็นตัวผลักดัน” หรือ Time-Driven Activity-Based Costing หรือ TDABC ขอให้ผู้อ่านโปรดติดตามตอนต่อไปตอนที่ 4 การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมโดยใช้เวลาเป็นตัวผลักดัน
เรียบเรียงโดย : อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA
ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
เลขานุการคณะทำงานโครงการเครือข่ายหลักสูตรทางการบัญชีในประเทศไทย
และอนุกรรมการกลั่นกรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชี
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์