HIGHLIGHTS:
เวลาในการอ่าน 3 นาที
บทความชุด “วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ที่นักบัญชีไม่เคยบอกคุณ” จะมาแนะนำแนวทางการปันส่วนต้นทุนโดยการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยวิธีการที่จะทำให้กิจการต่าง ๆ สามารถปันส่วนต้นทุนให้กับสินค้าหรือบริการของกิจการได้ดียิ่งขึ้น ผ่านบทความ 6 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการวิเคราะห์ระบบต้นทุนแบบดั้งเดิมกับต้นทุนระบบต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 3 จุดอ่อนของการคิดต้นทุนฐานกิจกรรมแบบแบบดั้งเดิม
ตอนที่ 4 การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมโดยใช้เวลาเป็นตัวผลักดัน
ตอนที่ 5 การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม
ตอนที่ 6 กลยุทธ์ในการจัดการกิจกรรม
กลยุทธ์การบริหารกิจกรรม ทำได้ 4 วิธี คือ การกำจัดกิจกรรม การคัดเลือกกิจกรรม การลดกิจกรรม และการใช้กิจกรรมร่วมกัน
วิธีที่ 1 การกำจัดกิจกรรม (Activity Elimination)
การกำจัดกิจกรรม จะมุ่งเน้นการตัดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการตรวจสอบชิ้นส่วนที่ได้รับการส่งมอบจากผู้ขายวัตถุดิบ ซึ่งจะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผลิตใช้สินค้าตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ การใช้วัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพทำให้ส่งผลเสียหายต่อตัวสินค้าของกิจการตามไปด้วย อย่างไรก็ดี กิจการควรเลือกผู้ขายวัตถุดิบที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นผู้ขายที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก ก็จะสามารถลดกระบวนการตรวจคุณภาพชิ้นส่วนที่รับมอบจากผู้ขายออกไปได้และทำให้ต้นทุนลดลงได้ตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ
กิจการอาจไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือการลดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าให้เหลือน้อยที่สุดและลดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลดต้นทุนที่ไม่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน
วิธีที่ 2 การคัดเลือกกิจกรรม (Activity Selection)
การคัดเลือกกิจกรรม เป็นกลยุทธ์การแข่งขันในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดจะใช้กลุ่มของกิจกรรมต่างกัน เช่น กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน จะส่งผลทำให้ต้นทุนต่างกันด้วย ดังนั้น การออกแบบสินค้าควรเลือกการออกแบบสินค้าที่ใช้ชุดของกิจกรรมที่มีต้นทุนต่ำสุด โดยใช้กิจกรรมที่มีอยู่เดิม เนื่องจากพนักงานมีความคุ้นชินกับกระบวนการเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และท้ายที่สุดทำให้เกิดการลดต้นทุนลง
วิธีที่ 3 การลดกิจกรรม (Activity Reduction)
การลดกิจกรรม เป็นการลดจำนวนครั้งในการทำกิจกรรม รวมถึงการลดเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน และทำให้เกิดการปรับปรุงกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่า ก่อนที่จะขจัดกิจกรรมนั้นออกไป เช่น กิจกรรมการปรับตั้งเครื่องจักรเพื่อลดเวลาและทรัพยากร ทำให้ระยะเวลาการใช้เครื่องจักรลดลง และต้นทุนรวมลดลง
วิธีที่ 4 การใช้กิจกรรมร่วมกัน (Activity Sharing)
การใช้กิจกรรมร่วมกัน เป็นการทำให้เกิดการประหยัดของขนาด (Economy of Scale) โดยเฉพาะการมีปริมาณตัวผลักดันต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยที่ต้นทุนของกิจกรรมไม่เพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุดจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยตัวผลักดันต้นทุนที่ปันส่วนเข้าสู่สินค้าหรือบริการลดลง เช่น การออกแบบสินค้าชิ้นใหม่ ทำให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่มีไว้เพื่อใช้ผลิตสินค้าตัวอื่นด้วย โดยไม่มีการเปลี่ยนชุดกิจกรรมในการผลิต และทำให้ต้นทุนรวมลดลง
นับตั้งแต่มีการนำระบบต้นทุนฐานกิจกรรมมาใช้ กิจการหลาย ๆ แห่งสามารถนำระบบต้นทุนฐานกิจกรรมมาใช้คำนวณต้นทุนของสินค้าและบริการให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น และช่วยในการกำหนดราคาขายได้อย่างเหมาะสม กิจการที่สามารถใช้การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-Based Management : ABM) ทำให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้แก่กิจการในที่สุด มาถึงตอนนี้แล้ว หากท่านมิใช่นักบัญชี แต่คาดว่าท่านจะเข้าใจวิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย : อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA
ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
เลขานุการคณะทำงานโครงการเครือข่ายหลักสูตรทางการบัญชีในประเทศไทย
และอนุกรรมการกลั่นกรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชี
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์