การประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ ด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด (Comparable Method)

การประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ ด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด (Comparable Method)

22 กรกฎาคม 2564บทความ6,164

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • การประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยวิธีมูลค่าเปรียบเทียบตลาด (Comparable) มีจุดเริ่มต้นจากการค้นหาบริษัทต้นแบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจคล้ายกันเพื่อใช้อ้างอิงมูลค่าประเมินทางธุรกิจ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจระยะเริ่มต้น จึงมักใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดตามระยะการร่วมทุน (Comparable by Stage) และใช้ควบคู่ไปกับการประเมินมูลค่าด้วยวิธีอื่นๆ เช่น วิธีคิดลดกระแสเงินสด และวิธี VC เพื่อเทียบเคียงความเป็นไปได้และความสมเหตุสมผล (Reality Check) ของมูลค่าประเมินธุรกิจจากทั้งสามวิธี   


  • บทความนี้สรุปใจความสำคัญหลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop โดยคุณ Douglas Abrams, Founder and CEO of Expara สำหรับการบรรยายในวันที่ 21 เมษายน 2564 ในหัวข้อ การประเมินมูลค่าด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด (Comparable)



เวลาในการอ่าน 5 นาที









บทความชุด การประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งได้จากสรุปประเด็นสำคัญจากหลักสูตรอบรมออนไลน์ Startup Valuation Workshop  ทั้ง 4 ครั้ง โดยได้สรุปเนื้อหาสำคัญไว้ทั้งหมด 7 ตอนได้แก่




ในการประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพมีวิธีการที่ได้รับความนิยมสามวิธีหลัก คือ วิธีเปรียบเทียบตลาด (Comparable Method) วิธีการคิดลดกระแสเงินสด (DCF) และการประเมินมูลค่าด้วยวิธี VC (VC Method) โดยในบทความนี้ นำเสนอขั้นตอนการประเมินมูลค่าด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด Comparable ซึ่งเป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่มีการประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์การลงทุน เช่นการใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบความน่าสนใจการลงทุนของหลักทรัพย์ต่างๆ หรือใช้เปรียบเทียบมูลค่าธุรกิจในการควบรวมหรือการเข้าซื้อธุรกิจ รวมถึงการประเมินมูลค่าธุรกิจระยะเริ่มต้น  โดยวิธีการเปรียบเทียบตลาด เริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า หากมีธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ เช่นทำธุรกิจเหมือนกัน อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือมีขนาดเท่ากันทั้งสองบริษัทนี้ ย่อมมีมูลค่าธุรกิจที่เท่ากัน จากแนวคิดดังกล่าวนี้ อาจกล่าวได้ว่า หากเราทราบมูลค่าประเมินทางธุรกิจของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เราย่อมสามารถประเมินมูลค่าบริษัทอีกบริษัทหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A และ บริษัท B ประกอบธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยที่บริษัท B มีขนาดเล็กกว่าบริษัท A ประมาณครึ่งหนึ่ง และมีลักษณะอื่นๆ เหมือนกันทุกประการ หากเราทราบมูลค่าประเมินธุรกิจของบริษัท A เราก็จะสามารถประเมินมูลค่าของบริษัท B ได้ ซึ่งในตัวอย่างนี้สมมุติให้มูลค่าประเมินของบริษัท A อยู่ที่ระดับ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยแนวคิดของ วิธีเปรียบเทียบตลาดนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่ามูลค่าธุรกิจของบริษัท B นั้นอยู่ที่ระดับ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของบริษัท A นั่นเอง



ในการประยุกต์ใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดในการประเมินมูลค่าธุรกิจระยะเริ่มต้น ผู้ประกอบการสามารถใช้แนวทางการประเมินมูลค่าธุรกิจดังนี้



กำหนดบริษัทต้นแบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็นบริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการ จากฐานข้อมูลอื่นๆ โดยมากควรสืบค้นข้อมูลบริษัทต้นแบบที่มากกว่า 1-2 บริษัท ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบข้อมูลที่มีค่าผิดปกติ (outliers)



กำหนดตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการเปรียบเทียบ ผู้ประกอบการกำหนดปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาใช้ในการเปรียบเทียบโดยเริ่มต้นจากตัวชี้วัดทางการเงินที่สำคัญของธุรกิจนั้นๆ เช่น รายได้ จำนวนลูกค้า ขนาดตลาด อัตราการเติบโต กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น จากนั้นจึงควรพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางธุรกิจระหว่างบริษัทของผู้ประกอบการและบริษัทต้นแบบอย่างมีนัยสำคัญ เช่นหากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทต้นแบบอยู่ที่ระดับโลก ในขณะที่ธุรกิจของเราตั้งเป้าในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย ในการประเมินมูลค่าธุรกิจ ผู้ประกอบการก็ควรปรับลดมูลค่าธุรกิจของบริษัทเป้าหมายลงประมาณร้อยละ 40 – 60 การปรับลดมูลค่าประเมินทางธุรกิจนี้เป็นการสะท้อนภาพความแตกต่างในปัจจัยแวดล้อม เช่น ขนาดตลาดและความต้องการของลูกค้า ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เป็นตัวกำหนดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมถึงโอกาสในการ Exit ธุรกิจ เป็นต้น



ตัวอย่างการเปรียบเทียบตลาด



 





หมายเหตุ ตัวอย่างสมมุติเพื่อให้เห็นภาพลักษณะสำคัญของการเปรียบเทียบ เท่านั้นในการเปรียบเทียบเพื่อประเมินมูลค่าควรพิจารณารายละเอียดเชิงลึกเช่น สัดส่วนของจำนวนลูกค้าที่ชำระเงินเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด Customer Life Time Value Churn Rate และรูปแบบธุรกิจที่ยังมีโอกาสการเติบโตและไม่มีผู้นำตลาดชัดเจน


การเปรียบเทียบมูลค่าธุรกิจ ตามตารางตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าการประเมินมูลค่าด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินระดับการระดมทุนและมูลค่าประเมินทางธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถค้นข้อมูลงบการเงินของบริษัทต้นแบบหรือค่าถัวเฉลี่ยกลุ่มบริษัทจดทะเบียน เพื่อใช้เปรียบเทียบความสมเหตุสมผลของสมมุติฐานที่ใช้ในแบบจำลองทางการเงินตามตารางเปรียบเทียบข้อมูลในการทดสอบสมมุติฐานดังนี้



ตัวอย่างการเปรียบเทียบข้อมูลในการทดสอบสมมุติฐาน



 





ที่มา Douglas Abrams Proforma Startup หลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop 21 เมษายน 2564


จากตัวอย่างทั้งสองตารางข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าวิธีการเปรียบเทียบตลาด เป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดสำหรับธุรกิจระยะเริ่มต้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะสตาร์ทอัพเป็นบริษัทจำกัด จึงไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายด้านการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ ทำให้การสืบค้นข้อมูลงบการเงินหรือรายละเอียดการระดมทุนไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูล ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบการแถลงข่าวของบริษัทซึ่งโดยมากมักให้ข้อมูลในภาพกว้างและไม่มีรายละเอียดมูลค่าประเมินทางธุรกิจในการระดมทุนรอบต่างๆ ที่สามารถนำไปประกอบการพิจารณา ข้อจำกัดประการที่สองเกี่ยวข้องกับการกำหนดบริษัทต้นแบบเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ในความเป็นจริงแล้ว สตาร์ทอัพอาจจะไม่สามารถกำหนดบริษัทต้นแบบหรือกลุ่มบริษัทสำหรับเปรียบเทียบได้ชัดเจนนัก หากสตาร์ทอัพอยู่ในอุตสาหกรรม Biotech ในประเทศไทย ควรเลือกเปรียบเทียบกับบริษัทต้นแบบจากอเมริกา ยุโรป หรือ เอเชีย อย่างไรจึงจะเหมาะสม สำหรับข้อจำกัดประการสุดท้ายที่ควรคำนึงในการใช้วิธีเปรียบเทียบตลาดคือความแตกต่างด้านหลักการทางบัญชีที่เลือกใช้ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขที่ใช้รายงานในงบการเงิน ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นี้ วิทยากรจึงได้ฝากคำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้วิธีเปรียบเทียบตลาดไว้ดังนี้



เปรียบเทียบข้อมูลตามระยะการดำเนินธุรกิจ (Comparable by stage) โดยทั่วไปผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลมูลค่าธุรกิจการร่วมทุนตามระยะการลงทุนได้จากสื่อหรือบริษัทวิจัยที่ติดตามสถานการณ์การร่วมทุนในสตาร์ทอัพระยะต่างๆ ตามแต่ละภูมิภาค



หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่มีค่าผิดปกติ (Outliers) ข้อผิดพลาดในการประเมินมูลค่าส่วนใหญ่ เกิดจากการนำมูลค่าประเมินทางธุรกิจจากการรายงานข่าว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามูลค่าดังกล่าวมักเป็นข้อมูลที่มีค่าผิดปกติ ดังนั้นในการเลือกบริษัทต้นแบบสำหรับการเปรียบเทียบจึงควรพิจารณาใช้ข้อมูลถัวเฉลี่ยจากกลุ่มบริษัทต้นแบบ (Baskets of Companies) จำนวนมากกว่า 3-5 บริษัท  หรือมากกว่านั้น



นำผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีเปรียบเทียบตลาดมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินมูลค่าด้วยวิธี VC และ วิธี DCF เพื่อตรวจสอบความสมเหตุสมผลของมูลค่าการประเมินทางธุรกิจในภาพรวม (Reality Check) หากผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีใดวิธีหนึ่งเกินพิสัย (Range) มูลค่าประเมินตามระยะการระดมทุนนั้น เป็นสัญญานเตือนว่าวิธีการประเมินมูลค่าที่ใช้มีการกำหนดสมมุติฐานเกินจริง ซึ่งในบทความตอนต่อๆ ไป จะกล่าวถึงการนำมูลค่าการประเมินจากทั้งสามวิธีมาเปรียบเทียบกันในรายละเอียดเพิ่มเติม



ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมการประเมินมูลค่าธุรกิจระยะเริ่มต้นด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด (Comparable Method) ท่านสามารถติดตามอ่านรายละเอียดวิธีการประเมินมูลค่าวิธีอื่นๆ ได้ผ่านบทความตอนที่ 5 และตอนที่ 6 รวมถึงคำแนะนำจากทางวิทยากรในการเจรจามูลค่าประเมินทางธุรกิจกับนักลงทุนในบทความตอนที่ 7 เพื่อประกอบการรับชม Startup Valuation Workshop ย้อนหลังผ่านทางห้องเรียนผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหากท่านสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาไทย ทางห้องเรียนผู้ประกอบการมีหลักสูตร e-Learning หลักสูตร “Startup Valuation” ที่สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้





สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาโดย : ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน) 


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ