รู้จัก Lean Canvas

รู้จัก Lean Canvas

17 พฤษภาคม 2565บทความ20,002

HIGHLIGHTS :



ธุรกิจเริ่มต้นใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูงอย่างสตาร์ทอัพ มักเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ความชัดเจนยังไม่มากนักทั้งในเรื่องกลุ่มลูกค้า หรือวิธีการแก้ปัญหา และยังไม่รู้ว่าธุรกิจที่กำลังสร้างนั้น หน้าตาจะเป็นอย่างไร รวมถึงจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้สามารถช่วยได้ด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า “Lean Canvas”





Lean Canvas คือ Template ผืนผ้าใบ 9 ช่อง ที่ช่วยให้สตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่กำลังต้องการทำธุรกิจหรือโครงการใหม่ๆ สามารถร่างแผนธุรกิจอย่างง่าย ให้ครบทุกองค์ประกอบที่สำคัญที่ธุรกิจเริ่มต้นใหม่ควรจะต้องโฟกัส โดยสรุปออกมาเป็นกระดาษ 1 แผ่น ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบแผนธุรกิจ รวมถึงสื่อสารให้กับคนที่เกี่ยวข้องให้เห็นภาพรวมของธุรกิจที่สตาร์ทอัพจะทำได้





Lean Canvas พัฒนาโดย Ash Maurya ซึ่งได้ต่อยอดมาจาก Business Model Canvas (BMC) ของ Alex Osterwalder โดย Lean Canvas นี้จะเน้นไปที่ธุรกิจเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีหลายสิ่งที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของปัญหา และความต้องการของลูกค้า ซึ่งต้องนำไปทดสอบเพื่อลดความเสี่ยง และปรับให้แผนธุรกิจสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก่อนทำธุรกิจจริง ซึ่งจะแตกต่างกับ BMC ที่มักใช้กับธุรกิจที่เริ่มต้นมาแล้วรวมถึงธุรกิจ SME ที่รู้ว่ากำลังจะทำอะไรชัดเจน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาเน้นเรื่องปัญหาและความต้องการของลูกค้า แต่จะเน้นให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจเชิงกลยุทธ์ว่าจะวางแผนใช้ทรัพยากรที่มีส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าให้ได้ถูกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร




ภาพรวมองค์ประกอบของ Lean Canvas ทั้ง 9 ช่อง มีดังนี้





1 Problem: ปัญหาอะไรที่เรากำลังจะแก้ไข



2 Customer Segments: ใครคือลูกค้า คนที่เจอปัญหานี้



3 Unique Value Proposition: จุดเด่นที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า



4 Solution: วิธีการหรือฟีเจอร์ที่แก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้คืออะไร



5 Channels: เข้าถึงลูกค้าอย่างไร



6 Revenue Streams: รายได้มาจากไหนบ้าง



7 Cost Structure: ต้นทุนมีอะไรบ้าง



8 Key Metrics: ตัวชี้วัดที่สำคัญคืออะไร (KPI)



9 Unfair Advantage: อะไรเป็นจุดเด่นของเราที่คู่แข่งไม่มี



การร่างแผนธุรกิจทั้ง 9 ช่องนั้น เพื่อเป็นการสรุปไอเดียที่มีต่อธุรกิจที่กำลังจะเริ่มต้น และให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเพื่อดูว่าสิ่งที่เราร่างไว้นั้น สิ่งไหนเป็นสิ่งสำคัญ และมีความเสี่ยงที่ยังไม่แน่ใจที่ต้องนำไปพิสูจน์ต่อหรือไม่ เมื่อร่าง Lean Canvas เสร็จทั้ง 9 ช่องแล้ว ได้เป็นแผนธุรกิจเบื้องต้นที่เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่สุด จากไอเดียของเรา แต่เนื่องจากยังไม่ได้นำมาตรวจสอบสมมติฐานต่างๆ สิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อคือ การนำไปทดสอบกับลูกค้าจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะบอกเราว่าสิ่งที่ร่างไว้ทั้งหมดพอจะเป็นไปได้หรือไม่ และเพื่อเรียนรู้กับลูกค้าของเราว่าที่น่าจะเป็นไปได้กว่านี้หรือที่ดีกว่า หน้าตาของธุรกิจจะเป็นอย่างไร




จุดประสงค์ของการนำ Lean Canvas มาใช้กับธุรกิจเริ่มต้นใหม่ ก็เพื่อที่จะให้เห็นภาพรวมของแผนธุรกิจที่จะทำ และลดความเสี่ยงจากการทำสิ่งที่ไม่มีคนต้องการ โดยจัดลำดับความสำคัญจากแผนที่ร่างไว้ ว่าสิ่งไหนที่ไม่รู้ไม่มั่นใจ และเป็นสิ่งมีความสำคัญกับธุรกิจ เพื่อที่จะได้รีบนำไปทดสอบก่อน ซึ่งการทดสอบอาจทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การสังเกต การออกไปคุยกับลูกค้า การทดลองขายจริง การทดสอบให้บริการจริงๆ ในเวอร์ชั่นที่สามารถส่งมอบคุณค่าหลัก และทำให้เราเรียนรู้จากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพื่อมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้






สามารถ ศึกษารายละเอียดของการใช้ Lean Canvas และตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่



คู่มือ SET Your Startup Business Guide : เริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย Design Thinking และ Lean Canvas



e-Learning หลักสูตร Lean Canvas


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ