เขียน App ไม่เป็น ก็เริ่มต้นทำ Startup ได้

เขียน App ไม่เป็น ก็เริ่มต้นทำ Startup ได้

20 พฤษภาคม 2563บทความ4,081

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • เรียนรู้จากตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่เติบโต โดยไม่ได้เริ่มต้นที่การสร้าง Application


  • Application ไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จของธุรกิจ แต่ให้มองเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยขยายช่องทางการใช้งานของเราให้ไปถึงลูกค้ามากขึ้น 



เวลาในการอ่าน  4  นาที









ในยุคนี้การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัยก่อน เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จากไอเดียของตัวเอง ยิ่งในช่วงที่กระแสการทำสตาร์ทอัพกำลังมาแรง ทำให้หลายคนมีความสนใจที่อยากจะเอาไอเดียของตัวเอง ไปสร้างเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นจริง เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการมองเห็นปัญหาที่ผู้คนทั่วไปต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน และถ้ามีใครสามารถคิดค้นหรือนำเสนอวิธีการหรือเครื่องมือ ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คนเหล่านั้นได้ ก็จะทำให้มีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการมาใช้บริการ



แน่นอนว่าพอพูดถึงคำว่าสตาร์ทอัพหลายคนนึกถึง Facebook, Grab, AirBNB จึงมีคนจำนวนมากสงสัยว่า ถ้าอยากทำสตาร์ทอัพจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสร้าง Application หรือไม่



ก่อนอื่นขอขยายความคำว่าสตาร์ทอัพให้คนที่กำลังสนใจเรื่องนี้ได้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะคำว่าสตาร์ทอัพมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า SME ซึ่งหมายถึงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยปกติแล้ว Startup ที่เป็นบริษัทที่ตั้งใหม่ก็ถือเป็นหนึ่งใน SME เช่นกัน แต่ความแตกต่างของสตาร์ทอัพ คือสตาร์ทอัพจะเป็นธุรกิจที่สามารถทำซ้ำ (Repeat) ได้ ซึ่งคำว่าทำซ้ำ ในที่นี้จะหมายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์หรือระบบขึ้นมาครั้งเดียว แต่ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้ได้ไม่จำกัดจำนวน จะแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปในเรื่องของการขยายและการทำซ้ำ ที่จะต้องลงทุนเพิ่มจำนวนมาก ต้องมีการผลิตใหม่ทุกครั้งที่มีคนขอซื้อผลิตภัณฑ์ หรือจำเป็นต้องมีการจ้างคนมาให้บริการทุกครั้งที่มีลูกค้าขอรับบริการ



หากเปรียบเทีบบเราเป็น SME ที่ทำอู่รถแท็กซี่ ทุกครั้งที่เราอยากขยายหรือทำซ้ำ เราต้องลงทุนซื้อรถใหม่และหาพนักงานหรือคนขับมาเพิ่ม ซึ่งเราต้องเหนื่อยมากขึ้นและต้องลงทุนเพิ่มขึ้นทุกครั้ง แต่ถ้าเราสร้างระบบอัตโนมัติเป็น Application อย่างเช่น Grab ซึ่งเป็น Application สำหรับเรียกรถแท็กซี่ ที่เปิดให้คนที่มีรถเข้ามาสมัครในระบบเพื่อมารับผู้โดยสารไปส่งยังจุดหมาย เราก็จะสามารถให้บริการคนได้หลายล้านครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อรถและจ้างพนักงานเป็นหลายล้านคน



จะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักเป็น Application เพราะการที่สตาร์ทอัพจะสามารถให้บริการคนจำนวนมาก โดยที่มีคุณสมบัติในการทำซ้ำได้ ก็อาจจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่าง Application ที่ช่วยให้เข้าถึงและสามารถให้บริการคนจำนวนมากได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าหากเราเขียน Application ไม่เป็น จะไม่สามารถเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพได้ เพราะที่ผ่านมา สตาร์ทอัพหลายเจ้าเริ่มต้นจากการที่ไม่มี Application แต่ก็สามารถทดลองตลาด จนมีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่ง และเริ่มมีรายได้เข้ามา จึงลงทุนสร้าง Application ในภายหลัง ก็แสดงให้เห็นได้ว่าถึงแม้ตอนเริ่มต้นจะเขียน Application ไม่เป็น แต่ก็สามารถทำได้ประสบความสำเร็จเช่นกัน



ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพในต่างประเทศ ที่ชื่อ Roomi ซึ่งเป็นระบบหารูมเมท เพื่อมาแชร์ค่าห้องกัน ก็เริ่มต้นจากการใช้เครื่องมือสำเร็จรูปอย่าง Google Form เพื่อให้คนที่กำลังสนใจจะหารูมเมทมากรอกข้อมูลแสดงความสนใจและเบอร์โทรติดต่อไว้ แล้วทีมงานจึงติดต่อกลับไปเพื่อเสนอราคาห้องแต่ละที่ให้ (หลังจากที่ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง มีรายได้เข้ามามากเพียงพอจึงจ้างทีมงานมาพัฒนา Application)



หรือแม้กระทั่ง Go-Jek ที่เป็น Application เรียกมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่อันดับ 1 ของประเทศอินโดนีเซีย ก็เริ่มต้นจากการขอเบอร์วินมอเตอร์ไซค์ตามจุดต่างๆ มา 20 คน แล้วเริ่มติดใบประกาศประชาสัมพันธ์ว่าหากใครต้องการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ไปรับให้โทรมาที่ Call Center ที่เป็นเบอร์กลางของ Go-Jek เมื่อเห็นว่าธุรกิจนี้ไปได้ดีและเริ่มมีรายได้เข้ามาจึงพัฒนาเป็น  Application และเติบโตเรื่อยมาจนปัจจุบันเป็น Application ที่มีคนขับรถมาสมัครให้บริการถึง 2 ล้านคน



สุดท้ายนี้ฝากถึงผู้อ่านที่มีไอเดียอยากสร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คนจำนวนมาก ว่าการทำ Application ไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จของธุรกิจ แต่ให้มองเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยขยายช่องทางการใช้งานของเราให้ไปถึงลูกค้ามากขึ้น และต่อให้มี Application ที่สมบูรณ์แล้วแต่ประโยชน์นั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้คนได้จริงๆ คนที่ดาวน์โหลด Application ไปก็อาจจะลบทิ้งลงได้ เพราะไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น





บทความโดย : นพ พงศธร ธนบดีภัทร



CEO & Co-founder บริษัท Refinn



และเจ้าของ Youtube channel : NopPongsatorn


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ