ได้อะไรจากการเข้าอบรม MIT Entrepreneurship online Bootcamp

ได้อะไรจากการเข้าอบรม MIT Entrepreneurship online Bootcamp

11 ธันวาคม 2561บทความ2,830

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




MIT Entrepreneurship online Bootcamp คือ การอบรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่ช่วงไอเดียสู่การเป็นสตาร์ทอัพภายใน สัปดาห์ โดยจะเรียนรู้ตามแนวทาง 24 Steps of Disciplined Entrepreneurship ของศาสตราจารย์ Bill Aulet แห่ง MIT





การแบ่งปันประสบการณ์ และประโยชน์ที่ได้จากบูทแคมป์ จะมีตั้งแต่วิธีการวิเคราะห์ตลาด เข้าใจความจำเป็นของปัญหา ทักษะการเป็น Salesman วิธีการเลือกตลาดหัวหาด การให้ความสำคัญกับคน การเน้นไปที่จุดแข็งของผู้ประกอบการ และการลงมือทำอย่าจริงจัง




เวลาในการอ่าน 5 นาที







การเป็นผู้ประกอบการนั้น ไม่ใช่แค่เพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจ หรือมีเพียงแค่เงินทุน ในการสานฝันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จเท่านั้น การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้าง หรือเพื่อเติมเต็มในจุดที่เรานั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอในการทำธุรกิจ นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ และเมื่อพูดถึงหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หนึ่งในหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงจนติดอันดับ 1 ใน 5 ของสถาบันการศึกษาที่ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาคือ หลักสูตร MIT Entrepreneurship



ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ความรู้ทางเทคนิคของสินค้าก็มีมากพอตัว แต่ความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดคือสิ่งที่ยังขาดอยู่พอสมควร ดังนั้นมันคงจะดีไม่น้อยหากมีโปรแกรมหรือโปรเจ็คที่ช่วยให้สามารถเพิ่มศักยภาพในด้านเหล่านี้มากขึ้น เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงเริ่มลงมือค้นหาและดูรายละเอียดของคอร์สต่างๆ ในที่สุดก็พบกับบูทแคมป์การเป็นผู้ประกอบการในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) และที่น่าแปลกใจที่สุดคือค่าใช้จ่ายในการเรียนคอร์สนี้ ก็อยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป ($ 2,950 หรือประมาณ 90,000 บาท)



บูทแคมป์ในรูปแบบแบบออนไลน์ คืออะไร



MIT Entrepreneurship online Bootcamp คือ การอบรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่ช่วงไอเดียสู่การเป็นสตาร์ทอัพภายใน 8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นความพยายามของ MIT ในการพัฒนาคอร์สนี้เป็นแบบออนไลน์ เพื่อขยายวงกว้างในการเข้าถึงผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วโลก



บูทแคมป์แห่งนี้ จะดำเนินการตามแนวทาง 24 ขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการที่มีวินัย (24 Steps of Disciplined Entrepreneurship) ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์ Bill Aulet แห่ง MIT เพื่อตัดสินและประเมินไอเดียของสตาร์ทอัพ แนวคิดนี้มุ่งเน้นการตัดสินใจว่าปัญหานั้นคุ้มค่าที่จะแก้ไขหรือไม่ ก่อนที่จะลงมือแก้ไขแบบจริงจัง ซึ่งวิธีการนี้ตรงกันข้ามกับแนวคิดของ Lean Startup ทั้งนี้ แนวทาง 24 ขั้นตอนฯ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าคอร์สนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่นอน





Image Credit : http://disciplinedentrepreneurship.com



 



คอร์สในรูปแบบออนไลน์เป็นอย่างไร



คอร์สแบบออนไลน์นี้ใช้เวลาอบรมประมาณ 3 เดือน (หรือ 8 สัปดาห์) โดยแรกเริ่มนั้นจะไม่มีทีมและไอเดีย ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะใช้เวลาใน 2 สัปดาห์แรกเพื่อสร้างเครือข่ายกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ หลังจากนั้น จะมีการใช้เขตเวลา (ไทม์โซน) ในการจัดกลุ่ม (เราสามารถยื่นคำขอจัดกลุ่มกับผู้เข้าร่วมที่มาจากต่างไทม์โซนได้) ซึ่งเราจะเริ่มต้นจากไอเดียทั่วๆ ไปโดยดำเนินการตาม 24 ขั้นตอนฯ ที่กล่าวไว้ข้างต้นและสร้างแผนธุรกิจขึ้นมา



แนวทางการเรียนในแต่ละสัปดาห์



สัปดาห์ที่ 0 : สร้างเครือข่ายโดยทำความรู้จักกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ



สัปดาห์ที่ 1-3 : 3 สัปดาห์ถัดมาจะเน้นไปที่นวัตกรรมจากผู้ใช้ (User Innovation) และมองหาปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาเหล่านี้ต้องมีอิทธิพลต่อการนำมาสร้างเป็นธุรกิจได้ โดยผู้เข้าร่วมต้องนำเสนอปัญหาใน 1 นาทีและแนวทางแก้ปัญหา (สินค้าหรือบริการ) นั้น



สัปดาห์ที่ 2 : ทุกไอเดียข้างต้นจะถูกวิจารณ์โดยผู้เข้าร่วมคนอื่นและมีการให้คะแนน โดยไอเดียที่ได้รับคะแนนสูงสุดทั้งหมด 40 ไอเดียจะถูกนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจ จากนั้นจะแบ่งกลุ่มและทุกกลุ่มจะต้องเลือก 1 ใน 40 ไอเดียเหล่านั้น เมื่อเริ่มลงมือดำเนินการกับไอเดียนั้นแล้ว แต่ละทีมถึงจะเริ่มได้รับฟีดแบค (feedback) จากคนทั่วไปว่า แต่ละปัญหาที่นำเสนอมานั้นเป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้จริงๆ หรือไม่



สัปดาห์ที่ 3 : แบ่งตลาดตามผู้ใช้งานจริง (End user) และหากลุ่มตลาดแรก (primary market segment) ที่สามารถมุ่งเป้าไปและประสบความสำเร็จในตลาดนั้นได้ (หรือที่เรียกว่าตลาดหัวหาด: Beachhead market)



สัปดาห์ที่ 4 : คำนวณหา TAM หรือ เป้ารายได้ทั้งปี (Total Revenue you aim to make over a year) ถ้าสามารถครอบครองตลาดหัวหาดได้ทั้งหมด



สัปดาห์ที่ 5 : ค้นหาสูตรลับของธุรกิจหรืออีกนัยนึงคือ สิ่งที่ทำให้ไอเดียของธุรกิจเราพิเศษไม่เหมือนคนอื่น



สัปดาห์ที่ 6 : การตั้งโครงสร้างราคา (pricing framework) ของแนวทางแก้ไขปัญหา (สินค้าหรือบริการ) นั้น และพิจารณาว่าปัจจัยอะไรส่งผลต่อราคา



สัปดาห์ที่ 7 : ประมาณการคุณค่าและช่วงชีวิตของสินค้าหรือบริการ (Lifetime Value of the solution) และค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าต่อหนึ่งคน (Cost of Customer Acquisition) สำหรับสินค้าหรือบริการนั้นๆ (ซึ่งทักษะจำนวนมากทางคณิตศาตร์และการใช้ excel จำเป็นในกระบวนการนี้)



สัปดาห์ที่ 8 : ดำเนินการทำโมเดลธุรกิจให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งนั่นหมายถึงการทำซ้ำสิ่งที่ดำเนินการก่อนหน้านี้อีกครั้ง รวมถึงจัดให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมนำเสนอ และต้องทำการ pitching เป็นเวลา 5 นาที โดยสมาชิทุกคนต้องมีส่วนร่วมอธิบายสรุปปัญหาที่คุณกำลังแก้ไข รวมถึงอะไรคือวิธีแก้ปัญหานั้น (สินค้าหรือบริการ)



เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องไทม์โซน การรับประทานอาหารเย็นของผู้เขียน คือตี 4 หรือตี 5 และไม่เคยมีวันไหนในสัปดาห์ที่ได้นอนเกิน 4 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมคนอื่นอาจไม่ได้เผชิญกับปัญหาแบบนี้ แต่เคสผู้เขียนเป็นเคสพิเศษ เนื่องจากสมาชิกในทีมมาจากอินเดีย ซานฟานซิสโก นิวยอร์ก มาเลเซีย สิงค์โปร และดูไบ ดังนั้นมันลำบากมากในการทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันให้ได้ดี  อย่างไรก็ตามมันสนุกมาก กำหนดการที่อัดแน่นช่วยผลักดันให้ตนก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองและประสบการณ์ช่วง 3 เดือนนี้จะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก



ประสบการณ์ที่ได้จากบูทแคมป์



หลายสิ่งที่ได้รับจากบูทแคมป์ คือ บางสิ่งที่เคยคิดว่าสำคัญมากสำหรับการก่อตั้งบริษัทอาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น และบางสิ่งที่เคยคิดว่าไม่สำคัญกลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญ



ประเด็นสำคัญที่ควรจดจำและนำกลับไปใช้ ได้แก่



1. มันไม่สำคัญว่าคุณสร้างอะไรขึ้นมา



มันไม่สำคัญและไร้ประโยชน์มาก ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถสร้าง facebook ขึ้นมาจากความว่างเปล่าได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ แต่คุณไม่รู้วิธีการวิเคราะห์ตลาดและเข้าใจความจำเป็นของปัญหาที่คุณกำลังพยายามแก้ไข



2. วิธีการขายที่ดีจะทำให้คุณเป็นต่อเสมอ



หากคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณ “จำเป็น” ต้องเป็นพนักงานขาย (Salesman) ที่ดี ซึ่งหมายถึง เราต้องรู้วิธีการนำเสนอ การโน้มน้าว และการนำเสนอตัวของเราเองและไอเดียต่อคนอื่น  จงจำไว้ว่าคนเราซื้อและลงทุนในไอเดีย ไม่ใช่ในสินค้าหรือบริการ



3. เลือกตลาดเป้าหมายอย่างชาญฉลาด



ตลาดเป้าหมายที่เลือกในขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ (หรือตลาดหัวหาด) ควรจะผ่านการคิดกลั่นกรองเป็นอย่างดี และเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผล



ในอุดมคติคือ เราควรมีตลาดอื่นที่สามารถครองส่วนแบ่งส่วนใหญ่ได้ หลังจากที่เราได้พิชิตและครองตลาดหัวหาดได้แล้ว ตัวอย่างเช่น Uber เข้าสู่ตลาดการบริการส่งอาหารโดยใช้ประโยชน์จากตลาดการบริการขนส่งส่วนบุคคลที่ตนได้ครองส่วนแบ่งตลาดแล้ว



4. ทุกอย่างเกี่ยวกับคนหมด



ประโยคที่ว่า “ไม่สำคัญว่าคุณจะได้เกรดเท่าไหร่ แต่สำคัญว่าคุณรู้จักคนมากแค่ไหน” เป็นจริงอย่างยิ่งในทุกๆ ด้านของชีวิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยากจะเป็นผู้ประกอบการ)  บุคคลและคอนเนคชั่นที่ดีสำคัญมากเมื่อเรากำลังมองหาเพื่อนร่วมงาน นักลงทุน ตัวแทนจัดจำหน่าย และอื่นๆ เพราะฉะนั้นจงลงทุนกับการสร้างคอนเนคชั่นระยะยาวกับคนที่มีความคิดคล้ายกันและคนที่คุณมีความสุขเมื่ออยู่ด้วย



5. มุ่งเน้นที่จุดแข็งของคุณ



มันคือการเข้าใจในตัวเอง ดังนั้นจงเน้นความชำนาญในการใช้อาวุธถนัดของตน แทนการพยายามแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา อีกนัยนึงคือ จงระบุจุดแข็งของตนเองและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการแก้ไขจุดบกพร่องของตน



6. ที่สำคัญกว่าไอเดีย คือการทำให้สำเร็จ



หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดในบทความนี้คือ หลายคนไม่อยากจะแชร์ไอเดียของพวกเขาเพราะกลัวกว่าไอเดียที่ไม่เหมือนใครหรือไอเดียที่เป็นหนึ่งในล้านนั้นจะถูกก็อปปี้และขโมย  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดถ้าเราเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่ใช่ในการทำไอเดียนั้นให้สำเร็จ Entrepreneurship คือการแชร์ไอเดีย และถึงแม้ว่ามันจะถูกขโมยไป แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการทำไอเดียนั้นให้สำเร็จ



            Zune อยู่มาก่อนที่ Ipod จะถูกปล่อยเสียอีก



            สมาร์ทโฟนก็มีมาก่อนจะมี iPhone



            Orkut ก็มีอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่ Facebook จะเข้ามาในตลาด และ Facebook เองก็ยังคงอยู่หลังจากการเข้ามาของ Google+



            ตัวอย่างเหล่านี้น่าจะบอกอะไรบางอย่างกับเราได้บ้าง



7. สำคัญมากกว่าการทำให้สำเร็จ ก็คนอีกนั่นแหละ!



คนที่เก่งสามารถทำให้ไอเดียที่แย่ออกมาดีได้ และคนที่แย่ก็สามารถทำให้ไอเดียมูลค่าหลักล้านล้มเหลวได้เช่นกัน



 



นอกจากข้อดี หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรม แต่ข้อเสียของบูทแคมป์ก็มีอยู่เช่นกัน ถึงจะมีข้อเสียไม่มาก แต่ก็พอมีจุดเล็กจุดน้อย ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นอยู่แล้วกับการจัดบูทแคมป์ในรูปแบบออนไลน์ ในความเห็นส่วนตัว สิ่งที่ผู้เขียนไม่ชอบเกี่ยวกับบูทแคมป์นี้ คือ



1. ระยะเวลา



บูทแคมป์สามารถขยายเวลาได้ถึง 12 สัปดาห์ เนื่องจากช่วงหลังของโปรแกรมค่อนข้างเร่งรีบ และในโลกแห่งความเป็นจริงการต้องทำโจทย์ที่ได้รับกับเวลาแค่สัปดาห์เดียวมันเป็นไปไม่ได้



2. การจัดทีม



เราควรได้รับสิทธิในการเลือกทีมของตนเอง การจัดทีมตามเงื่อนไขภูมิศาสตร์ไม่ใช่ความคิดที่ดี



3. การตัดสิน



เกณฑ์การตัดสินที่ขึ้นอยู่กับฟีดแบคทั่วไปดูไม่ค่อยยุติธรรม ควรเน้นไปที่เนื้อหาจริงๆ ที่อยู่ในการนำเสนอ มากกว่าการเน้นวิธีการนำเสนอเนื้อหานั้นๆ



4. การมีส่วนร่วม



เนื่องจากวิดิโอของคอร์สนี้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ แต่การขาดการมีส่วนร่วมที่มากกว่านี้จาก MIT ซึ่งผู้เขียนมองว่าสามารถปรับปรุงได้ในรุ่นถัดไป



มีคนถามว่า...คอร์สนี้ตอบโจทย์สำหรับผู้เขียนมั้ย



ค่อนข้างเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ถ้าหากคุณเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ที่อยากจะสำรวจสิ่งใหม่ๆ นอกจากซอฟท์แวร์ และมีเงินเหลือพอ ก็ขอบอกว่าควรจะเข้าร่วมหลักสูตรนี้ เพราะบูทแคมป์นอกจากจะช่วยให้คุณเรียนรู้การตลาดและองค์ประกอบทางธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้คุณสร้างคอนเนคชั่นระยะยาวกับบางคนที่สุดยอดมากๆ ด้วย



ท้ายที่สุดนี้ ช่วงเวลาในบูทแคมป์คงไม่สนุกขนาดนี้หากขาดเพื่อนร่วมทีมที่ดี ซึ่งจะช่วยทำให้เวลาการทำงานสนุกและเพลิดเพลิน ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะกับเพื่อนร่วมทีมบางคนเมื่อครั้งที่เดินทางไปมาเลเซีย สิงค์โปร และซานฟานซิสโก ซึ่งการได้พบพวกเขาก็ช่างน่าตื่นเต้นและน่ายินดีมากกว่าที่ตนจินตนาการไว้เสียอีก






ที่มา : https://medium.com/@daggerdwivedi/my-experiences-with-the-mit-entrepreneurship-bootcamp-d8838e4f2a27



Credit : Harshit  Dwivedi



แปลโดย : มัณฑริกา แสงถนอม



สรุปและเรียบเรียงโดย : นุชนาถ คุณความดี



ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย



ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ