10 วิธีลดสินค้าคงเหลือ

10 วิธีลดสินค้าคงเหลือ

โดย พรเลิศ โพธาภรณ์

29 กรกฎาคม 2564
3,505 Views

Highlight


  • สินค้าคงเหลือ เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ค่อนข้างยาก หากมีอยู่มาก มีการหมุนเวียนช้า ก็เท่ากับเอาเงินไปจม ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องได้ ดังนั้นการจะลดสินค้าคงเหลือ เพื่อให้กระแสเงินสดกลับเข้ามาในกิจการได้ เจ้าของกิจการสามารถเลือกใช้ได้หลายวิธี แต่ควรคิดให้ถี่ถ้วนเพื่อให้การนำมาใช้เหมาะสมกับธุรกิจและสถานการณ์

สินค้าคงเหลือ (Inventory) เป็นรายการอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนในรูปของสินค้าสำเร็จรูป ที่มีไว้เพื่อขาย หรือเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ หากมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะส่งผลให้กระเเสเงินสดในมือของกิจการลดลง  ในบทความนี้ ขอนำเสนอ 10 วิธีการบริหารสินค้าคงเหลือเพื่อไม่ให้เงินจม

 

ซึ่งเจ้าของกิจการสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจและสถานการณ์ ดังนี้

 

1. Just in Time  การผลิตแบบทันเวลาพอดี จะใช้ความต้องการของลูกค้ากำหนดจำนวนผลิต และวัตถุดิบ ให้มีความพอดี ทำให้ลดการสิ้นเปลืองและลดจำนวนสินค้าในคลังให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Inventory)

 

2. Pareto Principle หรือที่รู้จักดีคือกฎ 80/20 กฎของจำนวนน้อยสำคัญ ซึ่งจะ Focus หรือยอมให้มีสินค้าคงเหลือที่มีความสำคัญเท่านั้น เช่นสินค้ายอดขายดี กำไรดี

 

3. Outsource การจ้างผลิต ไม่ควรทำเองทุกอย่าง เพราะจะทำให้ต้นทุนจมกับการจ้างงาน หรือไปซื้อวัตถุดิบบางอย่างมาเก็บเพื่อทำเอง

 

4. Production Cycle หารือกับฝ่ายผลิตให้ผลิตเท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องผลิตเพื่อสต๊อคสินค้าไว้ เพราะระยะเวลาการผลิตอาจไม่ได้มากอย่างที่คิด เช่นสามารถผลิตได้ภายใน 7 วัน ถ้ามี order มาก็สามารถผลิตใหม่ได้ ไม่ต้องผลิตเผื่อ

 

5. SKU Rationalization หาสินค้าที่เป็น Hero Item ไม่ให้มีสินค้ามากเกินไป บางทีต้องเข้มงวดถึงระดับที่ถ้ามีสินค้าตัวไหนเข้า จะต้องมีสินค้าบางตัวออกไปหรือลดลง

 

6. Demand Plan Accuracy การวัดว่าสินค้าที่คาดว่าจะขายได้ กับการขายได้จริง ต้องมีความถูกต้องในระดับ 80-100% หรือจะให้ดี ใช้ Pre-order จะดีที่สุด

 

7. Obsolete สินค้าที่มีการเสื่อมสภาพ หรือสินค้าที่ล้าสมัย ให้เอามาออกขายให้เร็วหลังฤดูกาล จะเป็นการขายแพ็กเกจคู่ หรือทำ Promotion ก็ได้  เพื่อระบายสินค้าออกให้เร็ว

 

8. Warehouse Management การบริหารจัดการคลังสินค้า แบบ First In First Out โดยเฉพาะสินค้าที่มีวันหมดอายุ อย่าให้สินค้าเก่าค้างสต๊อค เพราะอาจจะเกิดความเสียหายตามมา ถ้าเป็นสินค้าที่ Make to Order ผลิตเสร็จให้ส่งเลย ไม่ต้องส่งมาเก็บ

 

9. New Product สินค้าใหม่นั้นจะยังไม่มีข้อมูลการขายในอดีต แต่เราพอจะประเมินได้ในระดับหนึ่ง จะต้องระมัดระวังให้มาก ไม่ควรมีการผลิตเผื่อเด็ดขาด

 

10. Consignment การฝากขาย ธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไปไม่จำเป็นต้องซื้อขาดในสินค้านั้น ให้ใช้การฝากขาย เพื่อทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบในสินค้านั้น

 

วิธีการลดสินค้าคงเหลือทั้ง 10 วิธี สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับประเภทธุรกิจและสถานการณ์ ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น แต่พึงระลึกไว้ว่า การสต๊อกสินค้าไว้น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการขายนั้น อาจส่งผลให้ลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อสินค้ากับคู่แข่ง  ซึ่งทำให้เสียลูกค้าได้ ผู้ประกอบการจึงต้องมีข้อมูลการเคลื่อนไหวของสินค้าที่ดีพอ เพื่อให้สามารถตัดสินใจในการจัดการสินค้าคงเหลือของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง