5 คำแนะนำของ VCS จากงาน UK Fintech Week 2020
HIGHLIGHT :
-
เปิดมุมมองของ VCS ฝั่ง UK ทั้งด้านผลกระทบ โอกาส มาตรการพยุงธุรกิจ รวมถึงคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่โดดเด่นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จากงาน “UK FinTech Week 2020”
เวลาในการอ่าน 3 นาที

งานสัมมนา FinTech ที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศอังกฤษ คืองาน “UK FinTech Week 2020” จัดโดย Innovate Finance สมาคมฟินเทคสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มุ่งพัฒนาชุมชนนักพัฒนานวัตกรรม FinTech รุ่นใหม่ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงินระดับโลก ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดย Theme ของงานในปีนี้จัดภายใต้คอนเซปต์ Innovation. Imagination. Openness. เน้นพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์เรื่องอนาคตของ FinTech ในด้านต่างๆ ด้วยหัวข้อสัมมนาที่ตั้งเป้าหมายไปยังบุคลากร ผู้นำองค์กร นักลงทุน และผู้ออกนโยบายด้านการเงิน
โดยบทความนี้ ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาจากการเสวนาในหัวข้อ “คำแนะนำ 5 ประการจากนักลงทุนถึงสตาร์ทอัพในช่วงวิกฤต” ที่ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 ท่าน เป็นนักลงทุน (VCs) จาก BlackFin, MMC Ventures, Albion Ventures, Baringea ร่วมด้วย CEO Clear Bank โดยกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นผ่าน Webinar เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

วิทยากรทั้ง 5 ท่านได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองต่างๆ เช่นความท้าทาย โอกาส รวมถึงข้อสังเกตที่ได้รับจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่ได้สนับสนุนการลงทุนหรือที่เรียกกันว่า Portfolio Companies ซึ่งงานเสวนาในครั้งนี้ได้รับมุมมองด้านผลกระทบ โอกาส มาตรการพยุงธุรกิจ รวมถึงคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่โดดเด่น จากนักลงทุนทั้งสี่ท่านและ CEO ของ Clear Bank ที่ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมาแล้วสองครั้งด้วยกัน โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
ความท้าทายและโอกาสจากวิกฤตโควิด-19
-
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจฟินเทคแบบ B2B ที่เน้นกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อยอดขาย การต่อสัญญา รวมถึงลูกค้าใหม่ในช่วงระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
-
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น ระบบการชำระเงินออนไลน์, EdTech, Health Tech, Remote Working, Conference ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตโควิทซึ่งก่อให้เกิดการเร่งอัตราการเติบโตในจำนวนผู้ใช้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต
นักลงทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างไรบ้างในช่วงวิฤติ
-
เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการให้คำแนะนำด้านต่างๆ ทั้งการทบทวนวัตถุประสงค์ของธุรกิจ การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบต่างๆ การปรับรูปแบบธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นให้สตาร์ทอัพสามารถรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้ การทำงานใกล้ชิดกับสตาร์ทอัพในช่วงเวลานี้ช่วยสนับสนุนผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ สามารถตัดสินใจดำเนินการด้านต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงปรับเน้นการจัดลำดับความสำคัญโดยมุ่งเน้นดำเนินกลยุทธ์ที่สามารถผลักดันการเติบโตเพียงไม่กี่เรื่อง รวมถึงอาจจะยกเลิกการดำเนินตามกลยุทธ์ที่ไม่สำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
-
นักลงทุนยังคงดำเนินการพิจารณาการลงทุน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาข้อตกลงการลงทุนที่ได้ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งก่อนวิกฤตโควิด-19 ในส่วนข้อเสนอการลงทุนใหม่ๆ ที่ได้รับในช่วงนี้ นักลงทุนมองว่าอาจจะได้รับโอกาสในการพูดคุยเบื้องต้น หากสตาร์ทอัพมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจจริงๆ อย่างไรก็ตามการเจรจาข้อตกลงในช่วงเวลานี้ ยังไม่สามารถดำเนินการเหมือนในช่วงเวลาปกติเนื่องจากความท้าทายในการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงการเจรจารายละเอียดต่างๆ ซึ่งทำให้ขั้นตอนต่างๆ จำเป็นต้องเลื่อนออกไปสักระยะเพื่อให้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย และมีความชัดเจนด้านแนวโน้มธุรกิจมากขึ้น
แนวทางพยุงสตาร์ทอัพรอดพ้นวิกฤต และเสริมความแข็งแกร่ง
-
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ดูแลทีมงานทุกๆ คนในช่วงเวลานี้ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของพวกเขาและครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง และพิจารณามาตรการที่สามารถกระทำได้เพื่อรักษาตำแหน่งงานของพวกเขาไว้ให้ได้ รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจ เพราะทีมงานทุกๆ คนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาให้ธุรกิจพ้นวิกฤตไปได้
-
รักษาสภาพคล่องและยืด Run Way ให้ครอบคลุม 18-24 เดือน ซึ่งจะต้องเริ่มจากการทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึง Unit Economics เพื่อหาวิธีเพิ่มกระสเงินสดให้ได้มากที่สุด วิทยากรทุกท่านย้ำว่าการักษาสภาพคล่องมีความสำคัญมากและการดำเนินการประหยัดค่าใช้จ่ายควรทำอย่างจริงจัง พิจารณาค่าใช้จ่ายทุกรายการอย่างละเอียดเพื่อปรับต้นทุนการดำเนินการตามที่จำเป็น (Minimum Viable Cost Base) ให้พอเพียงสำหรับ 18-24 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการระดมทุนในทุกกรณี หากมีความจำเป็นที่ต้องระดมทุน ควรปรึกษากับนักลงทุนที่มีความคุ้นเคยและเข้าใจกับรูปแบบบการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะพอมีความเป็นไปได้มากกว่า
-
ปรับกลยุทธ์ด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อดูแลรักษาฐานลูกค้า โดยให้ความสำคัญกับการให้บริการรวมถึงตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจช่วงโควิด-19 เช่น นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับโครงสร้างราคาและบริการโดยลูกค้าสามารถเลือกบริการที่จำเป็นและเลือกแผนการกำหนดราคาแบบยืดหยุ่น หรือแนวทางการทำตลาดโดยผ่านช่องทางออนไลน์ เช่นการจัด Webinar แทนรูปแบบการทำตลาดก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมถึงเตรียมความพร้อมต่อลักษณะธุรกิจที่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปในอนาคต
-
ในส่วนการลดเงินเดือนพนักงาน นักลงทุนเน้นว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของธุรกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ โดยมากผู้บริหารองค์กรที่มีจำนวนพนักงานราว 60-100 คนใช้มาตรการประกาศลดเงินดือนตัวเองตั้งแต่ร้อยละ 20 – 50 ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน ในบางกรณีอาจมีการชดเชยด้วย Option บางแห่งให้ผู้บริหารเข้าร่วมตามความสมัครใจ ซึ่งบางคนที่ไม่สามารถช่วยองค์กรโดยการลดเงินเดือน ก็นำเสนอวิธีการลดค่าใช้จ่ายแบบอื่นๆแทน
คุณลักษณะของผู้ประกอบการที่โดดเด่น
-
เป็นแม่ทัพหน้าที่ลงมือแก้ปัญหา ติดตามสถานการณ์ และร่วมมือกับทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องเช่นทีมงาน ลูกค้าและคู่ค้าของธุรกิจอย่างใกล้ชิด
-
มีความจริงใจและโปร่งใสในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงธุรกิจในช่วงวิกฤต ซึ่งประเด็นนี้ครอบคลุมถึงการสื่อสารและทำงานกับพนักงานในองค์กรอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสื่อสารเกี่ยวกับทิศทาง กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ขององค์กรมีความสำคัญอย่างมาก
-
คุณ Charles ได้ฝากมุมมองของลักษณะผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการพาองค์กรฝ่าวิกฤตสี่ประการได้แก่
-
ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เหนือความละเอียดถี่ถ้วน
-
กล้าที่จะปรับตัว แม้ว่าจะไม่ตรงตามตำราหรือสูตรสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา
-
รักษาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการให้บริการ
-
ประสานทุกฝ่ายเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก
วิทยากรย้ำว่าผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและสามารถผ่าฟันบททดสอบจากวิกฤตโควิด-19 ไปได้ จะพร้อมรับโอกาสต่างๆ ในอนาคต ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดทั้ง 5 ข้อจากวิทยากรแต่ละท่าน ได้แก่ ภาวะผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร กระแสเงินสด การปรับตัวอย่างรวดเร็ว และความโปร่งใส
สรุปโดย ดร.ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)