HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 3 นาที
มีไอเดียสตาร์ทอัพแต่มีคนทำแล้ว ควรทำอย่างไร
ปกติแล้วคนที่เริ่มมีไอเดียอยากจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือสมัยนี้ที่หลายคนก็มีไอเดียสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพกัน เพราะเราเห็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพต่างประเทศ เช่น Facebook, Uber, Airbnb, Grab ฯลฯ ว่าสามารถสร้างบริษัทมูลค่าหลักหมื่นล้านหรือแสนล้านบาทได้ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ทำให้หลายคนจุดประกายความฝันที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพและคิดที่จะมองหาไอเดียในการเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง
โดยหลายคนอาจจะเริ่มจากการรวมทีม หาเพื่อนหรือคนที่มีความชำนาญในแต่ละด้านมารวมตัวกัน เพื่อหาไอเดียที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่หลายครั้งที่พอคิดไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพขึ้นมา แล้วหาข้อมูลมาประกอบก็ยิ่งพบว่าไอเดียที่คล้ายกันนี้มีคนทำไปแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นไอเดียที่คล้ายกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ หรือบางครั้งก็เป็นไอเดียที่คล้ายกับสตาร์ทอัพในประเทศไทยด้วยกันเอง
ส่วนสำคัญของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ หลายคนมักจะคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือไอเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้วในวงการสตาร์ทอัพหรือแม้กระทั่งนักลงทุนกลับมองว่า “Idea is cheap, execution is key” ซึ่งแปลว่าไอเดียนั้นไม่มีมูลค่าอะไรเลย สิ่งที่สำคัญคือการลงมือทำให้เกิดขึ้นแล้วเห็นได้จริงมากกว่า นั่นก็เพราะว่าหลายครั้งที่ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพอาจจะมีความใกล้เคียงหรือทับซ้อนกับบางธุรกิจที่เคยมีอยู่แล้ว แต่ด้วยกลยุทธ์การออกแบบสินค้าหรือบริการ รวมถึงขั้นตอนและรูปแบบที่แต่ละบริษัทมีนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้ไอเดียของการเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ดูเหมือนจะคล้ายกันกลับไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย
ยกตัวอย่างเช่น Facebook โซเชียลมีเดียที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลกตอนนี้ ก็ไม่ใช่รายแรกที่มีไอเดียอยากจะทำสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับสังคมออนไลน์ โดยก่อนที่ Facebook จะถือกำเนิดขึ้นก็มีบริษัทสตาร์ทอัพรายอื่น ที่มีไอเดียคล้ายๆ กันนี้ไปทำแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็เคยเป็นลูกค้าหรือเคยใช้บริการอยู่ นั่นก็คือ Hi5 นั่นเอง
แม้กระทั่ง iOS ระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือของ Apple หรือ Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือ ของ Google ก็ไม่ใช่ไอเดียแรกของโลก ที่จะทำระบบปฎิบัติการมาใช้บน Smartphone แต่คือ Nokia ต่างหาก ซึ่งสิ่งที่แอปเปิ้ลและ Google ทำคือการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าใช้งานแตกต่างกันออกไป ซึ่งก็เป็นที่เห็นกันอย่างประจักษ์แล้วว่าคนที่เริ่มต้นทำเป็นคนแรกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป
หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นว่าต่อให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา ไม่ได้ทำได้ดีกว่าหรือโดดเด่นกว่าเจ้าอื่น แต่สามารถหากลุ่มลูกค้าที่แตกต่างได้ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน คือบริษัทบริการเรียกรถมารับอย่าง Grab ซึ่งไม่ได้เป็นรายแรกของโลก และแน่นอนว่าพอพูดถึงบริการเรียกรถแบบนี้เราจะนึกถึง Uber กันก่อน เพราะ Uber ได้เริ่มให้บริการมาก่อนและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกแต่แน่นอนว่าพอเป็นบริษัทระดับโลกทำให้ Uber ไม่สามารถทำการตลาดให้คนในทุกพื้นที่รักในผลิตภัณฑ์และบริการของเขาได้เท่ากับคนในพื้นที่เอง จุดนี้เองทำให้ Grab ซึ่งก่อตั้งโดยคนในพื้นที่ เข้าใจความคิด ความต้องการของคนในพื้นที่มากกว่า ทำให้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งเป็นพื้นที่ของ Grab จึงเอาชนะ Uber ไปได้และทำให้ Uber ออกจากตลาดในพื้นที่นี้ในที่สุด
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่าถ้าคุณมีไอเดียที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพแล้วแต่ไม่มั่นใจในไอเดียของตัวเองเพราะเห็นว่าที่อื่นก็มีไอเดียที่คล้ายๆกัน หรือไอเดียของตัวเองไปใกล้เคียงกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลไป เพราะสุดท้ายความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้ารวมถึงความใส่ใจและความตั้งใจที่จะให้บริการของเรานี่แหละที่จะเป็นจุดที่แตกต่างและเอาชนะใจผู้บริโภคได้ในที่สุด