สวัสดีครับ เราเริ่มต้นปีด้วยบทความสรุปความเคลื่อนไหวของสตาร์ทอัพในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา บทความนี้จึงขอต่อยอดโดยรวบรวมความเห็นจากผู้คร่ำวอดในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการเติบโตให้แก่สตาร์ทอัพไทย
หลายคนตั้งคำถาม เหตุใดประเทศไทยยังไม่มีสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนมีกันหมดแล้ว ได้แก่ Grab (SG), Sea (SG), GoJek (ID), Traveloka (ID), Tokopedia (ID), VNG (VN), Bukalapak (ID), Revolution Precrafted (PH) ผู้รู้ในวงการได้ให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันสรุปได้ดังนี้
ทำธุรกิจกับองค์กรขนาดใหญ่เพื่อขยายฐานลูกค้า
ในช่วงปีที่ผ่านมา องค์กรระดับ Corporate ขนาดใหญ่เริ่มมีความตื่นตัวกระแส Disruption และให้ความสำคัญในเรื่อง Corporate Innovation มากขึ้น เริ่มเสาะแสวงหา Solution ใหม่ๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ทั้งการตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital) การร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนการใช้สินค้า บริการ หรือแม้แต่การเป็นลูกค้าเพื่อทดลองนำ Solution มาใช้ในองค์กร
ความตื่นตัวนี้เป็นโอกาสให้ สตาร์ทอัพสามารถทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในรูปแบบต่างๆ ได้ เริ่มตั้งแต่การเสนอขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ B2B เช่น SkillLane ได้เริ่มเจาะกลุ่ม Corporate โดยนำผลิตภัณฑ์เสนอขาย HR เพื่อให้พนักงานได้ใช้พัฒนาความรู้ เป็นต้น หรืออาจเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B2C คือการนำผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพไปเสริมผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทเพื่อให้ลูกค้าของบริษัทมีการใช้งานสะดวกขึ้น เช่น Homeprise ได้นำระบบ AR ช่วยธุรกิจอสังหาริทรัพย์ในการออกแบบตกแต่งคอนโดและอำนวยความสะดวกในการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาให้รอบคอบคือ บริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ดังนั้นจึงต้องการดีลเฉพาะสำหรับตนเอง (Exclusivity) ทำให้สตาร์ทอัพต้อง Lockup กับธุรกิจรายใดรายหนึ่งหรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
ควบรวมเพื่อความแข็งแกร่ง
การแข่งขันที่ดุเดือด คู่แข่งจากต่างประเทศและความจำเป็นในการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตจะเป็นแรงกดดันให้สตาร์ทอัพต้องหันมามองการควบรวมธุรกิจ ผู้ลงทุนที่เคยลงทุนในสตาร์ทอัพอาจเริ่มต้องการเห็นการเติบโตที่เป็นรูปแบบทั้งตลาดในประเทศและขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันต้องรวมพลังเพื่อสร้างการเติบโต ต่อสู้กับผู้เล่นรายใหญ่ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศแทนการแข่งขันในตลาดเล็กที่มีแต่จะเสียประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามผู้เล่นจากต่างประเทศอาจใช้วิธีการเข้าซื้อธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อปูทางบุกตลาดในประเทศในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากนี้ธุรกิจอาจมองหาการควบรวมในลักษณะ Supply-chain เดียวกันเพื่อให้เกิด Solution ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจมากขึ้น
บุกตลาดต่างประเทศ
ปัญหาหลักของสตาร์ทอัพไทยที่ยังเติบโตได้ช้าคือการทำตลาดในประเทศ ซึ่งมีขนาดตลาดที่จำกัด หากต้องการให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องมองตลาดให้ใหญ่ อย่างน้อยคือระดับอาเซียนก่อนก้าวไประดับโลก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศจึงเป็นภารกิจหลักในปีนี้ของสตาร์ทอัพ
ประเทศที่สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ตั้งไว้เป็นเป้าหมายหลักคือ อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ทำให้มีโอกาสเพิ่มจำนวนลูกค้า/ผู้ใช้ จึงควรศึกษากฎระเบียบการขยายตลาดไปยังอินโดนีเซียให้ดี สตาร์ทอัพไทยที่บุกตลาดอินโดนีเซียแล้วคือ Priceza, Builk, Fastwork
หน่วยงานภาครัฐเองได้มองเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยขยายตลาดไปต่างประเทศเพื่อให้ได้ประสบการณ์และลูกค้าที่สนใจ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามจากหน่วยงาน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งขาติ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
สร้างความแตกต่างด้วยเทคโนโลยี
สตาร์ทอัพที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ต้องมีเทคโนโลยีที่ต่างจากสตาร์ทอัพยุคเก่า เน้นเฉพาะทางมากขึ้น หรือนำ Deep Tech มาใช้ ในช่วงปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพหลายรายพยายามเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเป็น AI, Machine Learning แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียง Parameter-based
ในต่างประเทศ เทคโนโลยีส่วนใหญ่เกิดจากศูนย์วิจัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัย เป็นความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะ Deep Tech นั้นจะเป็นการวิจัยในห้องทดลองมานานนับสิบปีจนเทคโนโลยีมีความเสถียรในการนำมาใช้งานในเชิงธุรกิจ ซึ่งในประเทศไทยยังหาได้ยาก หน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยเริ่มมีความตื่นตัวพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจมากขึ้น
สตาร์ทอัพที่ต้องการสร้างความแตกต่างในเชิงผลิตภัณฑ์ต้องมีการทำงานร่วมกับงานวิจัยต่างๆ หรือร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพในต่างประเทศเพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภูมิภาค
เสาะแสวงหาและรักษาคนเก่ง
การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่มีความตื่นตัวแข่งขันกันเสาะแสวงหาบุคลากรถึงมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
สตาร์ทอัพที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ ต้องมีการสร้างวิชั่นและเป้าหมายที่น่าหลงใหล คนที่เป็น CEO ต้องมีความเป็นผู้นำสามารถจูงใจให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงพลังและความตั้งใจแน่วแน่ในการมุ่งสู่เป้าหมาย
บทบาทภาครัฐควรเป็น Supporter
ผู้รู้ในวงการมีความเห็นถึงสิ่งที่ภาครัฐสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ดีที่สุดคือ ลดอุปสรรคจากกฏระเบียบที่ไม่เข้ากับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด Sharing Economy ที่ยังคงมีปัญหาในระบบขนส่ง ที่พักอาศัย รูปแบบการออกหุ้นและกระบวนการจูงใจให้พนักงานที่มีสามารถอยู่กับบริษัท