Digital Economy กับตลาดแรงงานไทย

Digital Economy กับตลาดแรงงานไทย

January 13, 2023440


HIGHLIGHTS :



ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) มีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ของภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคำว่า Digital Literacy นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายที่รวมไปถึงทักษะการสื่อสาร ทักษะทางอารมณ์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการรู้เท่าทันภัยต่างๆ ในโลกดิจิทัลอย่างรอบด้าน ดังนั้นแรงงานที่จะสามารถมีงานทำ และสร้างรายได้ในระดับที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่นายจ้างกำหนด



เวลาในการอ่าน 4 นาที







การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และการคิดค้นวิธีการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Machine Learning และ Deep Learning นั้น ได้นำมาสู่ความกังวลที่อาชีพบางประเภทอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และกระบวนการทำงานต่าง ๆ จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Robotic Process Automation (RPA)



ความกังวลดังกล่าวได้นำมาสู่การวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจ เช่นงานวิจัยหลายฉบับพบว่าการเข้ามาของระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะส่งผลให้อัตราการจ้างงานลดน้อยลง (Reljic, Evangelista and Pianta, 2019) และระดับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ยาก (Fossen and Sorgner, 2019) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้มีงานวิจัยบางฉบับพบว่าเทคโนโลยีดิจิทัลอาจส่งผลบวกต่อการจ้างงานในอนาคตได้ (Acemoglu and Restrepo, 2018)



งานวิจัยของ Dias da Silva, Petroulakis and Laws (2019) ซึ่งได้พยายามแบ่งประเภทของงานออกเป็นกลุ่มตามลักษณะของทักษะที่ต้องการเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1) งานที่ต้องใช้ทักษะสูง ไม่ใช่งานทำซ้ำๆ และเป็นงานที่ต้องใช้ตรรกะการคิดวิเคราะห์สูง เช่น นักคณิตศาสตร์ นักสถิติ Programmer หรือผู้บริหารระดับสูง 2) งานที่ใช้ทักษะในระดับปานกลาง เป็นงานทำซ้ำๆ ซึ่งอาจเป็นงานที่ทำซ้ำจากการใช้แรงงาน เช่นวิศวกรในโรงงาน หรืองานที่ทำซ้ำแบบต้องใช้ตรรกะในการคิดวิเคราะห์เช่นนักบัญชี นักการเงิน หรือเสมียน และ 3) งานที่ใช้ทักษะในระดับต่ำ เป็นงานที่ใช้แรงงานแต่ไม่ต้องทำซ้ำๆ เช่น แม่บ้าน รปภ. และคนขับรถ กับงานที่ใช้ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น พนักงานขาย ช่างตัดผม หรือแม่ครัวทำอาหาร



จากการวิจัยของ Dias da Silva, Petroulakis and Laws (2019) พบว่า งานในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 จะเป็นงานที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต่ำ กล่าวคืองานในกลุ่มที่ 1 เป็นงานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการคิดค้นเทคโนโลยี ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ ระบบประมวลผล และทักษะการเป็นผู้นำองค์กรในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้ไม่สามารถมีเทคโนโลยีมาแทนที่ได้



ในขณะที่งานในกลุ่มที่ 3 ที่ดูเหมือนจะเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำ แต่กลับเป็นงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีน้อย เพราะงานเหล่านี้ไม่ใช่งานประจำ เป็นงานที่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์สูง และเป็นงานที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้น แขนกล หรือหุ่นยนต์ที่จะทำงานต่างๆ เหล่านี้ได้เทียบเท่ามนุษย์ จึงเป็นงานที่ยังอยู่ในความต้องการในตลาดแรงงาน



ส่วนงานในกลุ่มที่ 2 ซึ่งถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทค่อนข้างสูงนี้ กลับกลายเป็นงานที่ได้รับผลกระทบทางลบจากเทคโนโลยีมากที่สุด เพราะงานเหล่านี้ มักจะเป็นงานที่สามารถคิดค้นเครื่องมือดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ มาทำหน้าที่แทนได้ ยกตัวอย่างเช่น งานบัญชี สามารถมีระบบการเก็บข้อมูลยอดขายและค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ อย่างอัตโนมัติ เพื่อนำมาสร้างงบการเงินได้ทันที หรืองานด้านการเงินที่เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดสรรพอร์ตการลงทุนก็สามารถแทนที่ได้ด้วยระบบการคำนวณที่มาจากทฤษฎีทางการเงินเพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนอย่างอัตโนมัติ เป็นต้น



งานวิจัยโดย Acemoglu and Autor (2011) ที่ศึกษาระดับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ในตลาดแรงงานพบผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับงานวิจัยข้างต้น กล่าวคือในตลาดแรงงานได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Bi-Polar แล้ว กล่าวคือ งานที่ใช้ทักษะต่ำ กับงานที่ใช้ทักษะสูงจะเป็นงานที่มีการเติบโตของรายได้สูงมาก และเป็นกลุ่มงานที่ตลาดแรงงานมีความขาดแคลน



การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี ยังนำมาสู่ตลาดแรงงานที่สัดส่วนของแรงงานนอกระบบ และแรงงานที่ไม่ได้มีการว่าจ้างเป็นประจำ เพิ่มสัดส่วนมากยิ่งขึ้น แรงงานเหล่านี้อาจเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์สูงเช่น Blogger Youtuber และ Freelancer หรือเป็นแรงงานที่ใช้แรงงานกายเป็นสำคัญ เช่นพนักงานส่งของ



แรงงานนอกระบบที่เกิดขึ้นนี้มักจะถูกเรียกว่า Gig Workers โดย Gig Workers ได้นำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของรายได้ และการเข้าถึงสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ ซึ่งในประเทศไทยระบบต่างๆ ด้านการออม หรือการดูแลสุขภาพมักจะเป็นระบบสำหรับแรงงานประเภท Formal Sector เท่านั้น ทำให้ Gig Workers มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับด้านการออม ด้านการบริหารค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และการไม่มีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพ



พลวัตการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทยในยุค Digital Economy ที่กล่าวถึงในบทความนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ผู้วางนโยบายจะต้องให้ความสำคัญ และเร่งหามาตรการรองรับแรงงานที่คาดว่าจะตกงาน หรือรองรับการเกิดขึ้นของแรงงานกลุ่มใหม่ ให้มีความพร้อมด้านการเงิน และไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงสังคมตามมาในภายหลัง





สรุปและเรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น



เอกสารอ้างอิง :



Reljic, Evangelista and Pianta, 2019



Fossen and Sorgner, 2019



Acemoglu and Restrepo, 2018



Dias da Silva, Petroulakis and Laws (2019)



Acemoglu and Autor (2011)


แบ่งปัน :

คุณอาจจะสนใจ