คุณเป็นคนที่มี Outward Mindset หรือไม่

คุณเป็นคนที่มี Outward Mindset หรือไม่

March 23, 202217,593


HIGHLIGHTS :




  • เรียนรู้แนวคิด ลักษณะของคนที่มี Outward Mindset รวมถึงการนำ Growth Mindset และ Outward Mindset มาใช้เพื่อการพัฒนาการทำงาน ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง


  • ประสบการณ์ของเจ้าของธุรกิจที่ใช้ Outward Mindset ในการนำพาธุรกิจและทีมงาน รอดพ้นจากสถานการณ์โควิด-19



เวลาในการอ่าน 4 นาที







ก่อนจะไปรู้จักและทำความเข้าใจกับคำว่า Outward Mindset... หลายปีที่ผ่านมา เราน่าจะคุ้นชินกับคำๆ นี้มากกว่านั่นคือ Growth Mindset ซึ่งหมายถึง คนที่มีกรอบความคิดหรือทัศนคติ และความเชื่อที่ว่า คนเราทุกคนมีศักยภาพสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ชอบความท้าทายและกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยการใส่ความพยายามและมุ่งเน้นไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งภาพประกอบด้านล่างได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง Growth Mindset และ Fixed Mindset เพื่อให้ท่านเข้าใจมากขึ้น





แต่มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคนี้หากเจ้าของกิจการและทีมงานมีแค่ Growth Mindset จะเพียงพอหรือไม่? ซึ่งก่อนที่จะไปตอบคำถามนี้ เรามารู้จัก Mindset หนึ่งที่เรียกว่า Outward Mindset กันก่อน



Outward Mindset คือ แนวคิดหรือทัศนคติ และความเชื่อที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ โดยการให้ความสำคัญทั้งต่อตัวเราและต่อผู้อื่นที่เราเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นวิธีคิดในการมองภาพรวม มองการทำงานเป็นทีมมากกว่าจะมุ่งเน้นแค่เป้าหมายของตัวเอง



ลักษณะของคนที่มี Outward Mindset



ลักษณะเด่นของคนที่มี Outward Mindset มักจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี หรือมีทัศนคติเชิงบวก (แต่ไม่ใช่แบบมองโลกสวย แต่เป็นการมองโลกด้วยความเป็นจริง) ให้เกียรติและให้ความสำคัญกับคนรอบข้างด้วยความเอาใจใส่ เปิดใจรับฟัง และเข้าใจความต้องการของผู้อื่น มีน้ำใจชอบช่วยเหลือผู้อื่น



ในแง่ของการทำงาน จะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง ชอบความท้าทาย มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม และเป็นคนที่กล้าให้ฟีคแบคอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเมื่อได้รับฟีคแบค ก็เป็นผู้ที่ยอมรับในความผิดพลาดและพร้อมแก้ไขปรับปรุงทันที



ประโยชน์ต่อองค์กรและต่อตัวเอง



แน่นอนว่า ทุกๆ องค์กรย่อมอยากได้คนเก่ง คนที่มีทัศนคติดีมาร่วมงานทั้งนั้น ยิ่งถ้าเจอคนหรือทีมงานที่มี Outward Mindset ด้วยแล้ว การทำงานก็มักจะราบรื่น เกิดผลงานที่ประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว เพราะคนที่คิดและแสดงพฤติกรรมแบบ Outward Mindset จะมีศักยภาพในการบริหารทั้งงานและคน สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง มีวิธีในการลดช่องว่าง และลดความขัดแย้งระหว่างคนในทีม รวมถึงสามารถผลักดัน ชักจูงและโน้มน้าวเพื่อขอความร่วมมือจากทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ทั้งนี้การมี Outward Mindset ไม่ใช่แค่มีประโยชน์ต่อการทำงานเท่านั้น ยังมีประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว หรือบุคคลอื่นๆ ในชีวิต เพราะความคิดดังกล่าว คือการมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง (เอาใจเขามาใส่ใจเรา) มีความเข้าใจในชีวิตว่า คนทุกคน ย่อมมีเป้าหมายในชีวิตที่ต่างกัน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไป ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือตามศักยภาพและความสามารถของเรา การคิดดี ทำดีต่อคนรอบข้าง ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมาก็จะมีทั้งความสำเร็จและความสุขทางใจนั่นเอง



จะดีกว่าไหมหากเรามีทั้ง Growth Mindset และ Outward Mindset



การมีเพียง Growth Mindset อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะในชีวิตจริงเราต้องใช้ชีวิตและรับมือกับผู้คนที่หลากหลาย ต้องทำงานเป็นทีม การมี Outward Mindset จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตัวเองและทีมงาน ให้มีทั้ง Growth Mindset และ Outward Mindset ได้ ก็จะยิ่งทำให้องค์กรสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความเป็นผู้นำ ไม่เป็นภาระขององค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเพื่อการเติบโตของธุรกิจ เพราะคนเหล่านี้ จะสามารถเรียนรู้เติบโตในการทำงาน ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รวมถึงลูกค้าได้เป็นอย่างดี 



Growth Mindset อาจจะทำให้เราพัฒนา เติบโตขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ตัวเองเป็นหลักก่อน แต่ Outward Mindset จะเป็นตัวเสริมที่ทำให้การเติบโตของเรา เดินคู่ไปกับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นอย่างราบรื่น ซึ่งแนวคิด Outward Mindset นี้ไม่ได้สอนให้เรามุ่งไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น หากแต่สอนให้เราเปลี่ยนแปลงความคิด และพฤติกรรมของตัวเราเองก่อน เพื่อจะได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป



เพื่อให้ผู้อ่าน เห็นภาพการนำ Outward Mindset ไปประยุกต์ใช้งานภายในองค์กร ในบทความนี้ จึงขอยกกรณีศึกษาหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงมาแชร์ ดังนี้



เป็นที่ทราบกันดีว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ การท่องเที่ยว โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งโรงแรม บริษัททัวร์ เจอปัญหาหนักต้องปิดกิจการชั่วคราว เลิกจ้าง ลดวันทำงาน ลดเงินเดือนพนักงาน แต่ก็มีธุรกิจโรงแรมบางแห่งยังคงประคองตัวและอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน



ผู้ประกอบการท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมขนาดกลาง ตัดสินใจเรียกพนักงานจำนวน 30 คนมาประชุมเพื่อสื่อสารถึงสถานการณ์และปัญหาที่โรงแรมกำลังเผชิญอยู่ โดยมีแนวคิดหลักว่าจะไม่เลิกจ้าง เพราะมองว่าการที่พนักงานต้องออกจากงานในเวลานี้เท่ากับเราทอดทิ้งเขา ผลักเขาให้ออกไปเผชิญความยากลำบาก จึงให้คำมั่นกับพนักงานว่า โรงแรมจะยืนหยัดสู้ต่อไม่ปิดกิจการ แต่จะขอลดและตัดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออก เพื่อให้ธุรกิจรันต่อไปได้และทุกคนก็ยังคงมีรายได้จุนเจือครอบครัวต่อไป โดยทางออกต่างๆ ที่เจ้าของและพนักงานมุ่งมั่นช่วยกันคิด ช่วยกันทำนั้น มีเป้าหมายหลักร่วมกันคือ การประคองกิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจให้รอดไปได้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้




  • ทีมพนักงานขาย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่ติดต่อเฉพาะลูกค้าบริษัท หรือเอเจนซี่ ต้องหาช่องทางใหม่เช่น หากลุ่มอินฟูลเอนเซอร์ ที่เป็นบล็อกเกอร์สายกิน สายเที่ยว หรือกลุ่มที่มีแผนจัดงานแต่งงานขนาดเล็ก กลุ่มกีฬาทางน้ำ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ


  • ทีมพนักงานรับจองห้องพัก เปลี่ยนจากการรับจองแบบเดิม เป็นการทำตลาดผ่านออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กเพจ และ Line official account เจาะกลุ่มลูกค้าคนไทย ทักแชท ตอบอินบ๊อกซ์ เสนอแพ็กเกจที่เหมาะกับแต่ละกลุ่ม เช่นกลุ่มครอบครัว คู่รัก เป็นต้น


  • ทีมพนักงานห้องอาหาร เปลี่ยนจากแค่รอลูกค้ามากินที่โรงแรม ก็ปรับรูปแบบการนำเสนอเป็นอาหารเดลิเวอรี่พนักงานเสริฟ์ ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งอาหารให้ลูกค้าได้


  • ในระหว่างนี้ โรงแรมก็ปรับปรุงและตกแต่งใหม่ เพิ่มมุมถ่ายรูปจุดเช็คอิน เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งการปรับเปลี่ยนทั้งหมดได้ผลเกินคาด ลูกค้าคนไทยกลับมาท่องเที่ยวที่โรงแรมอย่างต่อเนื่อง



โดยทั้งหมดของการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการท่านนี้คิดและทำออกมาคือ การสื่อสารเป้าหมายให้ทุกคนเห็นภาพรวมของธุรกิจ การเปิดรับมุมมองความคิดเห็นจากพนักงาน การเข้าใจและช่วยเหลือพนักงาน การแสดงออกที่เต็มไปด้วยความหวังดี นำพาให้ทุกคนได้พัฒนามากขึ้นและก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ไปด้วยกัน และสิ่งสำคัญที่สุดของการฝ่าฟันอุปสรรคในครั้งนี้ได้สำเร็จนั้น เกิดจากการทำงานอย่างทุ่มเทมุ่งมั่นตั้งใจในหน้าที่ของตัวเองและของทีม พร้อมกับการช่วยเหลือสนับสนุนทีมอื่นๆ ให้ทำงานได้อย่างลุล่วงเช่นกัน



และอีกหนึ่งตัวอย่างที่ แสดงออกถึงความมี Outward Mindset ได้อย่างชัดเจนมากที่สุดคือ นิสัยของคนญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่) ที่มีค่านิยมในการทำเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การให้เกียรติและสุภาพกับผู้อื่นเป็นที่สุด ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ถูกปลูกฝังจนกลายเป็นวัฒนธรรมในระดับสังคม ระดับประเทศ ซึ่งหลายๆ ท่านที่ได้เคยไปสัมผัสประเทศหรือคนญี่ปุ่น ก็คงเห็นด้วย เพราะไม่ว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ไหน ความเอาใจใส่ของคนญี่ปุ่นนั้น ถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยมมาก จนทำให้เราประทับใจ และอยากกลับไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกหลายๆ ครั้ง



ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นพนักงานในองค์กร มีตำแหน่งหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม หรือลูกน้อง การพัฒนาตัวเองให้มี Outward Mindset จะทำให้เราเป็นผู้มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ด้วยการมองเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีเป้าหมาย มีความคาดหวัง มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือเหมือนๆ กับเรา ซึ่งตัวเราเองนั่นแหละที่ต้องกลับมาถามตัวเองว่า แล้วเรามี Outward Mindset รึยัง..ถ้ายังไม่มี หรือมีไม่มากพอ สิ่งแรกที่คุณสามารถทำได้ทันที คือ “อย่ารอให้คนอื่นเปลี่ยน..เปลี่ยนที่ตัวเองก่อน”





อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : SEAC: South East Asia Center  www.skipprichard.com/why-leaders-must-develop-an-outward-mindset/



บทความโดย : นุชนาถ คุณความดี



ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


แบ่งปัน :

คุณอาจจะสนใจ