HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 5 นาที
บทความชุด “ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน”
ตอนที่ 8 : สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน
บทความตอนนี้จะยังอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โดยจะกล่าวถึงตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะที่เรียกว่า Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ที่เป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ
1. ความหมายและความสำคัญ
ETS เป็นวิธีการหนึ่งของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจำกัดหรือลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน (Limit Climate Change) โดยเป็นตลาดที่ผู้ขายที่มีคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจเรียกว่าสิทธิ (Rights) หรือ Allowances for emission of Carbon dioxides (CO2) ที่ผู้ขายมีสิทธิดังกล่าวก็เพราะองค์กรหรือหน่วยงานของเขาดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดย CO2 ที่ลดได้มากกว่าเป้าหมายกลายเป็น คาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาขายได้ใน ETS Platform ได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตก็จะมาจากองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ปล่อย CO2 เกินกว่าเป้าหมายจึงมีความต้องการเข้าซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไป
โดยทั่วไปองค์กรที่จะมีคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมากและกลายเป็นผู้ขายรายใหญ่มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำกิจกรรมหลักที่ช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล หรือมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประเภท Low carbon source of energy เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ส่วนองค์กรที่เป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมักเป็นองค์กรที่แม้ว่าในกระบวนการดำเนินงานจะพยายามลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว แต่ก็ยังมีส่วนเกินกว่าเป้าหมายที่ทำได้ จึงเข้าสู่ EST Platform เพื่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ GHG ออกไป
ข้อมูลจาก Wikipedia เปิดเผยว่าการใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Climate Change โดยเป็นสัดส่วนถึง 89% ในการเกิดการปล่อยก๊าซ CO2 และมีสัดส่วนสำคัญถึง 68% ในการปล่อยก๊าซ GHG ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการเกิดตลาดซื้อขายแบบ ETS นี้จึงถือว่ามีส่วนช่วยให้องค์กรต่างๆ ที่ในกระบวนการดำเนินงานยังต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีทางออก อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดองค์กรต่างๆ ที่อาจช่วยลดโลกร้อนจนเกิดคาร์บอนเครดิต ที่จะขายให้กับผู้ซื้อได้ ซึ่งในมิติของประเทศก็สามารถช่วยติดตามได้ว่า โดยสุทธิแล้วประเทศของตนได้ปฎิบัตตาม Paris Agreement ได้ดีเพียงใด
2. ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์
2.1 ต้นทุนธุรกิจและต้นทุนทางสังคม (Private Cost and Social Cost)
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์กับ Climate Change ก็คือองค์กรต่างๆ จะมองเห็นต้นทุนภายในที่เรียกว่า Private Cost ของตนเองเท่านั้น เช่นต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ตนใช้แต่ที่จริงแล้วต้องรวบต้นทุนเพิ่มเติมที่เรียกว่า Social Cost หรือ External Cost ด้วย เพราะการใช้เชื้อเพลิงตามตัวอย่างดังกล่าว กระทบต่อสวัสดิการ (Welfare) ของสังคม เช่นในมิติของ Climate Change เช่น ผลของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขององค์กรทำให้เกิด GHG emissions และส่งผลต่อประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตและเกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรมีหลักการในการคำนวณเป็นเชิงปริมาณและค่าใช้จ่ายเป็นตัวเงินได้และเมื่อรวม Social Cost ที่ประมาณการกลับเข้าไปใน Private Cost แล้วจึงจะถือว่าผู้ปล่อย (Emitter) รับค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้เหมาะสมกับการกระทำของตน
2.2 จริยธรรมและความเป็นธรรม (Ethics and Fairness)
องค์กรที่ใส่ใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง กำหนดเป้าหมาย และคอยติดตามว่า องค์กรตนเองดำเนินงานจนสิ่งที่ปล่อยออกไป เมื่อเทียบกับการสร้างผลกระทบเชิงบวก หักล้างกันไปแบบ Net Zero หรือไม่ หรือมีสิ่งที่ขาดหรือเกิน ที่ต้องไปซื้อหรือนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ การกระทำเหล่านนี้ถือว่าเป็นอีกก้าวของการยกระดับด้านจริยธรรม ซึ่งองค์กรต่างๆ ควรเอาเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตามก็ควรมาดูประเด็นความเป็นธรรมด้วยว่าองค์กรต่างๆ ที่ยังไม่ปฎิบัติในเรื่องเหล่านี้และก็ยังปล่อยก๊าซ GHG ออกสู่บรรยากาศโดยไม่มีบทลงโทษอะไรและประพฤติตัวเป็น “Free Riders หรือกาฝาก” ก็จะเป็นธรรมหรือไม่ที่ผู้ทำดีต้องเป็นผู้มาแบกรับ Social Cost เหล่านั้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การคิดราคาหรือการประเมินมูลค่าสิ่งที่ทำจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมและจูงใจให้องค์กรที่จะทำความดีในเรื่องเหล่านี้มีกำลังใจด้วย
2.3 นโยบายภาษีและปริมาณ Carbon Emission (Taxes verses Caps)
การกำหนดนโยบายมีการเก็บ (Carbon Taxes) อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโดยผู้ที่ปล่อยมากก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง และอาจให้ Incentives กับผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายหรือเกินเป้าหมาย โดยลดหรือยกเว้น Carbon Taxes ให้เป็นต้น โดยนโยบายดังกล่าวอาจนำมาใช้บน ETS Platform ก็ได้เพื่อส่งเสริมให้ Platform นี้ช่วยดึงดูดให้ผู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเข้ามาทำการซื้อขาย เพราะผู้ซื้อผู้ขายแต่ละรายมีขนาดของ Carbon Emission ที่แตกต่างกัน การกำหนดปริมาณ Carbon Emission (Caps) ให้สัมพันธ์กับช่วงราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อขายบน ETS Platform เพราะจะเกิดการจำกัดช่วงราคาที่เปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน (a limit on price increase) เช่นในปริมาณการปล่อยก๊าซที่มาก ช่วงราคาอาจห่างมากเพื่อให้เกิดโอกาสการทำกำไรขาดทุนได้มากกว่า เป็นต้น
2.4 นโยบายการเก็บภาษีศุลกากรด้านสิ่งแวดล้อม (Eco-Tariffs)
กรณีบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจขอเก็บภาษีศุลกากรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ที่เรียกว่า Carbon surcharges กับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกระบวนการผลิตสินค้าบริการอาจยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ และยังไม่สามารถลดปัญหาได้ ประเด็นเหล่านี้อาจกลายเป็น “Green Protectionism” แม้ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ลดความสามาถในการแข่งขัน ซึ่งถือว่าไม่ได้ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น อีกทั้งหากองค์กรธุรกิจของประเทศที่โดนคิด Carbon surcharges เข้ามาซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตบน ETS Platform จะต้องถูกนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาคิดอย่างไร เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่ถูกต้องก่อนการซื้อขาย
2.5 กฎระเบียบและมาตราฐานการคำนวณคาร์บอนที่ปล่อยออกไป (Carbon Leakage)
ปัจจุบันมาตราฐานการคำนวณ Carbon Leakage ของแต่ละประเทศยังอาจมีความแตกต่างกันจึงอาจยังเป็นประเด็นเมื่อต้องหาวิธียอมรับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อขาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมาตราฐานให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ก่อนนำมาซื้อขายบน ETS Platform
3. ระบบการซื้อขาย (Carbon Emission Trading Systems)
หน่วยของการซื้อขายบน ETS Platform อาจระบุเป็น 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซ CO2 หรือเป็นหน่วย Carbon Credits, Kyoto Units หรือ Certified Emission Reduction Units (CER) ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับสากลถ้าอยู่นอกระบบ EU หน่วยงานที่จะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของหน่วยงานซื้อขายนี้คือ The United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) แต่ถ้าอยู่ภายใน EU จะเป็นหน่วยงาน The European Commission.
ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ EU ใช้ชื่อว่า The European Union Emissions Trading System (EU ETS) จะเริ่มต้นจากการตกลงร่วมกันของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกว่า แต่ละประเทศมี emission targets เท่าใดที่จะต้องช่วยลดโลกร้อนตาม The Framework of Kyoto Protocol เมื่อทราบเป้าหมายแล้วก็จะมีการจัดสรรแบ่งมายังบริษัทต่างๆ (Individual Companies) และเมื่อผ่านช่วงเวลาให้องค์กรต่างๆ ไปดำเนินการแล้วก็จะมีการสรุปผลให้เห็นว่า องค์กรใดมีคาร์บอนเครดิตเหลือและใครที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม
ปัจจุบันมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต 6 แห่ง ที่ร่วมกันซื้อขายใน UNFCCC ได้แก่ Chicago Climate Exchange, European Climate Exchange, NASDAQ OMX Commodities Europe, Power Next, Commodity Exchange Bratislava และ European Energy Exchange นอกจากนี้ยังมีตลาดของภาคเอกชนที่ชื่อ Private Electronic Market เกิดขึ้นในปี 2008 ชื่อ CantorCO2e เป็นต้น
เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย