ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 10)

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 10)

August 2, 20211,196


HIGHLIGHTS :




  • ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 10) : บทสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580  ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติในหลายมิติ



เวลาในการอ่าน 5 นาที









บทความชุด “ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน”



ตอนที่ 1 : ทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ



ตอนที่ 2 : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากสถาวะโลกร้อน รวมทั้งสรุปสถานการณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนนี้



ตอนที่ 3 : แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม



ตอนที่ 4 : บทสรุปของการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน และในมิติของภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิล จะสามารถมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 5 : การตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เริ่มได้โดยการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของธุรกิจ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนในการลดผลกระทบดังกล่าว ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งผลดีต่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 6 : รู้จักกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประเภทต่างๆ ที่ธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญ และสามารถเลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้



ตอนที่ 7 : เทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย



ตอนที่ 8 : สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน



ตอนที่ 9 : ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไม้โตเร็ว



ตอนที่ 10 : แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติในหลายมิติ



ตอนที่ 11 : รู้จักกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ถึงความหมายและความสำคัญ ตลอดจนการนำมาสู่ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังพัฒนาในประเทศไทย และจะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้



ตอนที่ 12 :  เข้าใจประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  รวมถึงรู้จักกับวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะของ Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ



ตอนที่ 13 :  รู้จักกับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)  และในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market)



ตอนที่ 14 : รู้จักกับ Cap and Trade กลไกที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) รวมถึงรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับ Cap and Trade ในสหรัฐอเมริกา



ตอนที่ 15 :  เงื่อนไขสำคัญของการเข้าซื้อขาย Carbon Credits ระหว่างประเทศ และพัฒนาการด้าน Cap and Trade ในประเทศออสเตรเลียและแคนนาดา



ตอนที่ 16 : พัฒนาการเกี่ยวกับ Carbon Emission และ Carbon Credits ในประเทศจีน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงในกลุ่มสหภาพยุโรป



บทความตอนนี้จะเป็นการปิดท้ายการสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก  พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งบทความในตอนก่อนๆ นี้ได้อธิบายถึงสถานการณ์ เป้าหมาย และโอกาสการพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ เพื่อใช้ผลิตพลังงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม



1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก



เมื่อมีการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องรองรับ ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้ารายสถานีไฟฟ้า ความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนรายสถานีไฟฟ้า การจัดลำดับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล



จากข้อมูลเป้าหมายในระยะใกล้ (2563-2564) สรุปเป้าหมายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะรับซื้อสะสมรวม 1,933 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดดังนี้





ในขณะที่ เมื่อมองตั้งแต่ปี 2561-2580 กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายใหม่ของกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจากโรงงานทุกประเภท ให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังข้อมูลสรุปไว้ดังนี้





จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดเป้าหมายว่า กำลังการผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าของประเทศจะมีขนาดเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และมีความคาดหวังว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศในปี 2579 จะมีระดับถึง 20.11% ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะต่อไปนั้น ต้องพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในรูปแบบที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง และแบบที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง เนื่องจากบางพื้นที่อาจอยู่ห่างไกลจากระบบสายส่ง จึงควรพัฒนาระบบที่เหมาะสม เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อจัดทำระบบประจุแบตเตอรี่ ระบบสูบน้ำ ระบบมินิกริด (Mini Grid) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กมาก เป็นต้น



2. การผลิตความร้อน



จากข้อมูลในปี 2561 ชีวมวลถูกนำมาใช้ผลิตความร้อนมากที่สุดถึง 90% ของการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนทั้งหมด ทั้งนี้ 50% ของชีวมวลจากชานอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปี 2579 เดิมคาดการณ์ว่าปริมาณความร้อนจากชีวมวลต่างๆ ดังกล่าว มีขนาด 25,088 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่พลังงานความร้อนที่ต้องการประมาณการณ์ไว้ว่ามีระดับ 68,414 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือคิดเป็น 36.67%  สำหรับในอนาคตจนถึงปี 2579 (ใหม่) ควรส่งเสริมการผลิตความร้อนรองรับความต้องการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนเพื่อผลิตความร้อนซึ่งเพิ่มขึ้นด้วยในระหว่างทางและควรเพิ่มให้อัตราส่วนความร้อนจากพลังงานทดแทนต่อพลังงานความร้อนที่ต้องการเพิ่มขึ้น 41.61% โดยการส่งสริมการผลิตการใช้พลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวทางดังต่อไปนี้



การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อบแห้งทั้งในระดับอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กและครัวเรือน



การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล



การส่งเสริมระบบบ่อเลี้ยงปลาพลังงานแสงอาทิตย์



การส่งเสริมการผลิตชีวมวลจากไม้โตเร็วเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล



การส่งเสริม การผลิตการใช้ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก



3. การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ



การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขนส่งนั้น ในอดีตถูกมองว่ามีประโยชน์เนื่องจากน้ำมันปิโตรเลียมมีจำนวนจำกัด  การหันมาใช้เชื้อเพลิงจากพืชน้ำมันไปผลิตเป็นเอทานอลแอลกอฮอร์และเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงขนส่ง จะเป็นทางออกหนึ่งแก้ไขความมีจำกัดของเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น  อีกทั้งการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสมก็มีความแพร่หลาย จนมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562  ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562 กำหนดไม่ให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสม จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งลดลง การกำหนดเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจึงมีระดับลดลง โดยมีการปรับเป้าหมายดังนี้



ปรับลดเป้าหมายการใช้เอทานอลจากเดิม 11.30 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 7.50 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580



ปรับลดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลจาก 14.00 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 8.00 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580



ยกเลิกเป้าหมายการผลิตไบโอมีเทนอัดในภาคขนส่ง



ประโยชน์ของการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทน



การผลักดันให้มีการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกนั้นมีประโยชน์อยู่หลายมิติ ได้แก่



ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ช่วยลดเงินตราต่างประเทศที่ต้องสูญเสียไป นอกจากนี้ยังเป็นการนำศักยภาพพลังงานธรรมชาติในประเทศมาเปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากวัสดุ ขยะของเสียมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน เกิดการลงทุนในโครงการด้านพลังงานในขนาดต่างๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง



ด้านสังคม การพัฒนาพลังงานในพื้นที่ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีพลังงานใช้เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และประหยัดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรที่ใช้พลังงานที่ผลิตได้เอง เป็นต้น



ด้านพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานต่อไป



ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การนำขยะ ของเสีย น้ำเสียและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่องโดยไม่เกิดของเสีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


แบ่งปัน :

คุณอาจจะสนใจ